โรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา  ดำเนินการตามยุทธศาสตร์หาดสำราญ 1 + 4.0 นำนวัตกรรมมาใช้ในการทำงาน พร้อมศึกษาวิจัยปัญหาสุขภาพในพื้นที่ นำแนวคิด “ธรรมชาติบำบัดโรค” ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ดูแลผู้ป่วย เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ให้เป็นโรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล

          วันนี้ (28 มีนาคม 2561) ที่อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และรองประธานกรรมการมูลนิธิเทพรัตนเวชชานุกูล  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานโรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยมีนายแพทย์มารุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา ฉายคุณรัฐ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลให้การต้อนรับ

          นายแพทย์มารุตกล่าวว่า โรงพยาบาลหาดสำราญเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็น “โรงพยาบาลที่มากกว่าโรงพยาบาล” โดยใช้ยุทธศาสตร์ “หาดสำราญ 1 + 4.0 นวัตกรรม”    นำนวัตกรรมมาใช้พัฒนางานทุกด้าน เช่น การเก็บข้อมูลความพึงพอใจของผู้รับบริการ การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขโรค   ที่เกิดในพื้นที่ ที่พบมากคือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเอ็นซีดี  ทั้งพฤติกรรมการบริโภคอาหาร คุณค่าทางโภชนาการของอาหารทะเล เป็นต้น เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยเผยแพร่ให้กับประชาชนในพื้นที่ เกิดเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้จริง

          นอกจากนี้ ยังนำแนวคิด “ธรรมชาติบำบัดโรค” มาใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชน สร้างศูนย์เรียนรู้ในเชิงธรรมชาติ โดยจำลองธรรมชาติที่มีอยู่จริงในชุมชนเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาล เช่น การจัดทำสวนป่าชายเลน แนะนำสรรพคุณของพืชพันธุ์ไม้ด้วยเทคโนโลยี QR Code จำลองเสมือนจริง  เป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ เช่น ผักบุ้งทะเล โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก เป็นต้น ซึ่งเป็นสมุนไพรทางทะเลมาใช้รักษาอาการของผู้ป่วยที่มีบาดแผล ปวด  บวม แดง ร้อน จากการโดนแมงกะพรุน แมลงสัตว์ กัดต่อย นำมาทาบริเวณบาดแผล จะทำให้บาดแผลยุบอาการบวมแดงร้อน อาการปวดได้ดีขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ได้สมุนไพรที่มีประสิทธิผลผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ

          โรงพยาบาลหาดสำราญพระเกียรติ 80 พรรษา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง ได้รับเลือกจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็น 1 ในโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 10 แห่งทั่วประเทศ ดูแลประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร เน้นให้มีโครงสร้างและระบบบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีระบบบริการที่เน้นงานเวชศาสตร์ครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ และที่สำคัญมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชน เปิดให้บริการมาแล้ว 3 ปี ดูแลประชาชนในพื้นที่ 22 หมู่บ้าน 3 ตำบล มีจำนวนประชากร 16,736 คน

          ปัจจุบันให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 150 คนต่อวัน และให้บริการผู้ป่วยในมีอัตราการครองเตียง ร้อยละ 42 โดยโรคที่พบบ่อย 5 อันดับแรกของผู้ป่วยนอก คือ โรคหวัด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคฟันผุ ตามลำดับ และโรคที่พบบ่อย 5 อันดับแรกของผู้ป่วยใน คือ โรคลำไส้อักเสบ อาการมึนศีรษะ โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม และโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ตามลำดับ

 ******************************************  28 มีนาคม 2561



   
   


View 36    28/03/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ