กระทรวงสาธารณสุข แนะนำช่วงฝนตกสลับอากาศร้อน ขอให้ประชาชนเข้มข้นทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและรอบบ้านต่อเนื่อง ป้องกันไข้เลือดออกในช่วงนักเรียนปิดเทอม หากมีไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด ให้รีบพบแพทย์ทันที

          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงหน้าร้อนปีนี้ มีฝนตกสลับอากาศร้อนเป็นระยะ ๆ มีน้ำขังตามเศษวัสดุ เศษภาชนะต่าง ๆ อาจเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ นายแพทย์เจษฎา  โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นย้ำให้แพทย์ในโรงพยาบาลทุกแห่งให้ความสำคัญในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสม และให้หน่วยงานในสังกัดขอความร่วมมือประชาชนในการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ภายในบ้านและรอบบ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันบุตรหลานที่หยุดอยู่บ้านช่วงปิดเทอมจากโรคไข้เลือดออก แต่หากมีอาการไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลด อาจติดเชื้อไวรัสเดงกี ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที

          “วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไข้เลือดออกคือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามภาชนะขังน้ำภายในบ้านอย่างต่อเนื่อง ทุก 7 วัน เพื่อไม่ให้ไข่ยุงลายที่เกาะตามภาชนะ เศษวัสดุต่าง ๆ กลายเป็นตัวยุงลาย ซึ่งทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าการพ่นสารเคมีหมอกควันซึ่งยุงลายยังสามารถบินหนีได้” นายแพทย์โอภาสกล่าว

          นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า โรคไข้เลือดออกเดงกี ติดต่อจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกกัด  หลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการไม่รุนแรง ไปจนถึงรุนแรง ช็อกและเสียชีวิตได้ โดยระยะแรก ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน เกิน 38.5 องศาเซลเซียส ส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำมูก หรือไอ มักมีหน้าแดง เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีผื่นแดง มีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งมักจะเป็นสีดำ

ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการ โดยการเช็ดตัว ให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน ไอบรูโพเฟน เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน จะระคายกระเพาะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่  ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 จะมีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีภาวะช็อก หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนใน 2-3 วัน แต่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเสียชีวิตภายใน 12-24 ชั่วโมง

สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 20 มีนาคม พบผู้ป่วย 4,847 ราย เสียชีวิต 8 ราย น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน กลุ่มอายุ 5 – 14 ปี อัตราป่วยสูงสุดที่ภาคใต้ รองลงมาคือภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ

 

  ******************************************  28 มีนาคม 2561



   
   


View 34    28/03/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ