สาธารณสุข ระดมพลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. แกนนำสตรีในชุมชนกว่า 8 แสนคน ก้าวนำโลก รณรงค์ยิ่งใหญ่ให้หญิงไทยอายุ 35 ปีขึ้นไป 12 ล้านคน “ตรวจเต้านมด้วยตนเอง” พร้อมกันทั่วประเทศ ฟรี เริ่ม 25 - 30 พฤศจิกายน 2550 ตั้งเป้าให้ได้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน ชี้ผลสำรวจล่าสุดพบหญิงไทยยังตรวจมะเร็งเต้านมตัวเองไม่เป็นมากถึง 7 ล้านคน ทำให้เป็นมะเร็งโดยไม่รู้ตัว คาดปีหน้า ยอดผู้ป่วยรายใหม่จะพุ่งถึง 12,000 คน บ่ายวันนี้ (25 พฤศจิกายน 2550) ที่ลานกิจกรรมหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล กทม. นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดการรณรงค์โครงการ “ตรวจเต้านมด้วยตนเอง มะเร็งไม่ถามหา” ภายใต้คำขวัญ “สามนิ้ว สามสัมผัส สกัดมะเร็งเต้านม” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะการตรวจหาก้อนผิดปกติที่เต้านมด้วยตนเองให้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ผู้หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคน ได้เห็นความสำคัญของการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม นายแพทย์มรกต กล่าวว่า ขณะนี้คนยุคใหม่มีแนวโน้มการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสภาพชีวิตประจำวันที่มีความเครียดสูง ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารไขมันสูง กินผักผลไม้น้อย และเป็นโรคอ้วน ทำให้เจ็บป่วยเรื้อรังตามมา บางคนเป็นหลายโรคพร้อมกัน โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามชีวิตคนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานเสียชีวิตปีละ 8 ล้านคน มากที่สุดคือมะเร็งปอด 1.3 ล้านคน รองลงมาคือมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยมะเร็งเต้านมเสียชีวิต 502,000 คน แนวโน้มการตายจากโรคมะเร็งทุกชนิดจะเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 9 ล้านคนในปี 2558 เป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก สำหรับสถานการณ์โรคมะเร็งของประเทศไทย ในรอบ 5 ปีนี้พบเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในปี 2549 เสียชีวิตทั้งหมด 56,000 คน โดยโรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทยรองจากมะเร็งปากมดลูก พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปีอย่างน่าวิตก โดยในปี 2544 พบผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 11,902 คน และเพิ่มเป็น 19,425 คนในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 ส่วนผู้เสียชีวิตก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มจาก 1,267 คนในปี 2544 เป็น 1,910 คนในปี 2548 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 คาดในปี 2551 นี้จะมีคนป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 12,000 คน จากการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาล พบว่ารักษาได้ผลดี คือมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 80-90 เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น อีกร้อยละ 80 รักษาไม่ค่อยได้ผล ทำให้มีชีวิตรอดน้อยมากเนื่องจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะอื่นแล้ว ขณะเดียวกันจากผลการสุ่มทดสอบการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองในกลุ่มผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ 12 ล้านคน ในจำนวนนี้พบว่ามีเพียงร้อยละ 44 หรือประมาณ 5 ล้านคนที่มีความรู้และสามารถตรวจมะเร็งด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ที่เหลือประมาณ 7 ล้านคนต้องเร่งให้ความรู้ เพื่อให้สามารถตรวจหาความผิดปกติที่เต้านมได้ ในการรณรงค์ตรวจมะเร็งเต้านมครั้งนี้ ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ ในสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านคือที่สถานีอนามัยโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัดในสังกัดทุกแห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 – 30 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งใหญ่ที่สุดของไทย เป็นตัวอย่างแก่ทั่วโลก ที่จะสอนผู้หญิงไทยทุกคนให้ตื่นตัวในเรื่องภัยของมะเร็งเต้านมเพื่อไม่ให้เสียชีวิตจากโรคนี้ เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่สามารถตรวจหาในเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ โดยระดมพลังอสม.กว่า 800,000 คนออกเคาะประตูบ้าน ซึ่งในจำนวนนี้ผ่านการอบรมและฝึกทักษะการสอนการตรวจมะเร็งเต้านมมาอย่างดีแล้ว 300,000 คนเป็นผู้สอนถ่ายทอดเทคนิคการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตั้งเป้าจะดำเนินการครอบคลุมผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคน หากตรวจพบก้อนผิดปกติที่เต้านม จะส่งตรวจโดยละเอียดเพื่อวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดทันที ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ส่วนที่เป็นมะเร็งเต้านมมากที่สุดคือส่วนที่เป็นท่อน้ำนม รองลงมาเกิดที่ต่อมน้ำนม มะเร็งดังกล่าวในระยะเริ่มต้น มักจะไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจตรวจพบก้อนผิดปกติที่เต้านม หรือเต้านมมีรูปร่างผิดไปจากปกติ ผิวหนังที่เต้านมมีรอยบุ๋ม รอยย่น หรือหดหนาผิดปกติ มีอาการคันที่หัวนม หัวนมหดตัวหรือมีสีแดงผิดปกติ อาจมีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม ซึ่งร้อยละ 20 จะเป็นมะเร็งเต้านม และมีอาการเจ็บเต้านม ขณะนี้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สามารถให้การรักษาได้ ส่วนใหญ่จะรักษาโดยการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อผิดปกติออก ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การตรวจเต้านม ควรตรวจหลังประจำเดือนหมดแล้ว 3-7 วันทุกเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึง การตรวจทำได้ 2 ท่า ท่าที่ 1 เป็นท่ายืน โดยยืนตรงแขนแนบลำตัว ดูเต้านมทั้ง 2 ข้าง ว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปทรง สีผิว แผล สะเก็ด และของเหลวจากหัวนม จากนั้นประสานมือทั้ง 2 ข้างเหนือศีรษะ มองเต้านมทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ดูรอยบุ๋มหรือรอยนูนที่เต้านม จากนั้นวางมือที่เอว ก้มลงมาข้างหน้า ดูตำแหน่งหัวนมและความสมดุล จากนั้นยกแขนข้างที่จะตรวจเหนือศีรษะ ใช้ 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำวนรอบเต้านมเป็นก้นหอย จนรอบเต้านมถึงรักแร้ และไหปลาร้า ท่าที่ 2 เป็นการตรวจเต้านมตนเองในท่านอนราบ โดยใช้ 3 นิ้วเช่นกัน สำหรับการจัดรณรงค์ที่เซ็นทรัลเวิร์ลในวันนี้ ประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ นิทรรศการโรคมะเร็งเต้านม และสอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง พร้อมทดลองปฏิบัติ หากพบความผิดปกติจะได้รับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรม โดยรถเคลื่อนที่มูลนิธิถันยรักษ์ และตรวจคัดกรองให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อส่งต่อไปรับการตรวจรักษาตามขั้นตอนต่อไป และการเสวนาวิชาการจากผู้เชี่ยวชาญ การสัมภาษณ์สดดาราดัง การแสดงบทเวที การแสดงดนตรี การแสดงนวัตกรรมเกี่ยวกับชุดชั้นในสตรี สามารถนำเสื้อชั้นในเก่ามาแลกส่วนลดได้ โดยมีคุณลลนา ก้องธรนินทร์ นางสาวไทยปี 2549 เป็นพรีเซนเตอร์ ผู้หญิงไทยรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพเต้านม ******************************* 25 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 18    25/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ