“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 357 View
- อ่านต่อ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ไม่นำปลาปักเป้า ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม มาประกอบอาหาร ชี้มีพิษรุนแรง ความร้อนทำลายไม่ได้ หากมีอาการ เช่น ลิ้นชา ชารอบปาก ให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2561) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีลูกเรือประมงเสียชีวิตหลังรับประทานไข่ปลาปักเป้า 2 ราย และอาการสาหัส 1 ราย รับการรักษาที่โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยมีอาการจากพิษปลาปักเป้าเป็นครั้งคราว ทั้งปลาปักเป้าน้ำเค็มและปลาปักเป้าน้ำจืด ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบเหตุการณ์ 6 ครั้งในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วย 17 ราย เสียชีวิต 5 ราย โดยปลาปักเป้ามีพิษที่ชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) ซึ่งจะอยู่ในอวัยวะภายใน ทั้งตับ สำไส้ และหนังปลา ส่วนที่มีพิษมากที่สุดคือไข่ปลา โดยเฉพาะในช่วงฤดูปลาวางไข่พิษจะมีมากที่สุด ที่สำคัญคือพิษปลาปักเป้าทนความร้อนสูงมาก ความร้อนไม่สามารถทำลายพิษได้ ไม่ว่าจะต้ม ทอด ย่าง เผา ก็ตาม และความเค็มจากการแปรรูปเป็นปลาร้าก็ไม่สามารถทำลายพิษได้เช่นกัน ประชาชนจึงไม่ควรรับประทานปลาปักเป้า เพราะมีพิษร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากรับประทานในปริมาณมาก หรือเป็นผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานน้อย มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา ก็จะส่งผลให้พิษออกฤทธิ์เร็ว โอกาสเสียชีวิตสูง
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ขอให้ประชาชนสังเกตเนื้อปลาแล่เป็นชิ้นที่จำหน่ายในตลาด อาจมีเนื้อปลาปักเป้าปะปนอยู่ โดยจะมีเนื้อคล้ายเนื้อสันของไก่ทำให้เรียกทั่วไปว่า ปลาเนื้อไก่ ซึ่งอาจได้รับพิษจากส่วนที่เป็นพิษของปลาปักเป้า โดยหลังกินประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ชาที่ลิ้นและริมฝีปาก ลามถึงหน้าและแขนขา ระคายในลำคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เดินไม่ไหว ร่างกายเป็นอัมพาต หายใจล้มเหลว อาจเสียชีวิตได้ภายใน 4-6 ชั่วโมง ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณที่กินเข้าไป ปัจจุบันนี้ ยังไม่มียาแก้พิษหรือยารักษาเฉพาะ จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ยังพบผู้ได้รับพิษจากการกินไข่แมงดาทะเลที่เป็นแมงดาถ้วย ในรอบ 5 ปีนี้ พบผู้ป่วย 33 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งแมงดาถ้วยจะมีพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า เกิดจากการกินตัวแพลงก์ตอนที่มีพิษ หรือกินหอย/หนอนที่กินแพลงก์ตอนที่มีพิษเข้าไป ทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย หรือเกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ของแมงดาถ้วยสร้างพิษขึ้นมาได้เอง จึงขอย้ำเตือนให้ระมัดระวังในการกินไข่แมงดาในช่วงนี้ ซึ่งพบว่าช่วง ก.พ. - มิ.ย. ทุกปีจะมีการแพร่พันธุ์ของแพลงก์ตอนที่สร้างสารพิษจำนวนมาก แมลงดาถ้วยจะกินแพลงก์ตอนเหล่านี้ และพิษจะไปสะสมที่ไข่ เมื่อคนกินไข่แมงดาจะทำให้ได้รับพิษจำนวนมาก เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและรวดเร็วภายใน 10-45 นาที หลังกินเข้าไป โดยจะชารอบปากและลิ้น บางรายอาจมีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน ชาตามปลายนิ้วมือและเท้า และมีอ่อนแรงของปลายมือและเท้า กลืนลำบาก หนังตาตก หยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ หากกินแล้วเกิดอาการดังกล่าวให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และแจ้งแพทย์ว่ากินไข่แมงดาทะเล จะได้รักษาอย่างทันท่วงที
***************************************** 23 กุมภาพันธ์ 2561