กรมอนามัย พัฒนางานสำเร็จเป็นรูปธรรม 6 เรื่องใหญ่ ด้วยแนวคิด “พัฒนาคนตามช่วงวัย” ดูแลประชาชนครอบคลุมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จนถึงผู้สูงอายุ อาทิ โครงการสาวไทยแก้มแดง โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วัน 

          วันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2561) ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของกรมอนามัยและให้สัมภาษณ์ว่า กรมอนามัยทำหน้าที่หลักในการดูแลสุขภาพประชาชนระดับประเทศ โดยในรอบปีที่ผ่านมา มีความสำเร็จในการดำเนินงาน 6 เรื่องใหญ่ โดยใช้เครื่องมือใหม่ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล คือเครื่องมือในการวางแผนการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต  (Life Course Approach) มาเป็นหลักในการดำเนินงานจนเกิดความสำเร็จดังนี้ 1.โครงการ “สาวไทยแก้มแดง”เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ มีผู้ลงทะเบียนรับวิตามินแสนวิเศษเบื้องต้นกว่า 4 หมื่นคน เร่งขยายสู่สตรีในโรงงานทั่วประเทศ 2.77 ล้านคน และกลุ่มสตรีจดทะเบียนสมรสปีละ 300,000คน 2.โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต ขับเคลื่อนจากชุมชน ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ โดยมีพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ 2560 (พ.ร.บ.Milk Code) เป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น  ดำเนินการแล้วในเขตสุขภาพที่ 1 ,8 ,9 และ 10  
 
          3.ผลักดันให้โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเป็นโรงเรียนต้นแบบนักเรียนไทยสุขภาพดี นำร่องใน 273 โรงเรียน และในปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการให้ครบถ้วนทุกโรงเรียน 4.การผลักดันพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ส่งผลให้อัตราการคลอดลดลงจาก 53.4 ต่อพันประชากรในปี 2555 เหลือ 42.5 ต่อพันประชากร ในปี 2559 และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดกลไกการทำงานทุกระดับในการคุ้มครองสิทธิวัยรุ่น ตั้งเป้าลดอัตราคลอดให้เหลือไม่เกิน 25 ต่อพัน ในปี 2569 5.การดูแลผู้สูงวัยระยะยาว ผลิตผู้จัดการดูแลสุขภาพผู้สูงวัยระยะยาว (Care Manager) จำนวน 11,912 คน ผู้ดูแลสุขภาพ (Caregiver) จำนวน 53,041คน และจัดทำแผนดูแลผู้สูงวัยรายบุคคล (Care Plan) จำนวน 140,941 คน โดยครอบคลุมผู้สูงวัยกลุ่มพึ่งพิง 171,983 คน ในปี 2561และ 6.ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพัฒนาได้ตามเกณฑ์ GREEN&CLEAN  Hospital ระดับพื้นฐานถึงร้อยละ 94.37  และมีถึง 50 จังหวัด ที่ผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก โดยการสร้างเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปยังพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมชุมชน (Active Community)
 
          นอกจากนี้ กรมอนามัยเป็นเจ้าภาพหลักจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573 จะเข้าคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคมนี้ และผลักดันให้เกิดแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายโลก จนเกิดกระแสการมีกิจกรรมทางกายในทุกกลุ่มวัยที่การประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก สมัยที่ 142 ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมในระดับโลก 15 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา คอสตาริกา ชิลี เม็กซิโก อาร์เจนตินา เวเนซูเอล่า นอร์เวย์ สเปน ไอร์แลนด์ สก็อตแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ มัลดีฟส์ และออสเตรเลีย จาก 4 ภูมิภาค ทั่วโลก ได้แก่ อเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งมีทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา
 
         ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้กรมอนามัยดำเนินการต่อเนื่องให้เห็นผล  ตามพระราชบัญญัติ 3 ฉบับที่ดูแล คือ 1.พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ในการขับเคลื่อนงานอาหารปลอดภัยและตลาดสดน่าซื้อเพื่อสนับสนุนตลาดประชารัฐ รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมั่นคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ครอบคลุมเกือบ 100% ในเขตชุมชนเมือง 2.พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มุ่งป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการบนพื้นฐานสิทธิของวัยรุ่น  และ 3.พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ 2560 (พ.ร.บ.Milk Code) เพื่อควบคุมการโฆษณา รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการ การให้ข้อมูลอาหาร ซึ่งหมายถึงนมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหารเสริมเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 12 เดือน และเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 12 เดือน - 3 ปี
 
          นอกจากนี้  การรับมือกับเขตเมือง ของสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ที่ต้องมีรูปแบบการเข้าถึงประชาชนที่ต้องมีลักษณะพิเศษ เนื่องจากเป็นหมู่บ้าน ชุมชน เวลากลางวันไม่อยู่บ้านต้องปรับเวลาการให้บริการ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด ทั้งนี้สิ่งสำคัญของประชาชนในเขตเมืองคือ การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)  
**************************** 23 กุมภาพันธ์ 2561
 
 
 
 
 
*************************


   
   


View 29    23/02/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ