รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้กระทรวงการคลังทบทวนร่างกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .. ที่ผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 โดยจะขอให้ยกเว้นข้อบังคับต่อองค์การเภสัชกรรม
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ว่า ในหลักการเห็นด้วยที่จะให้มีการแข่งขันโดยเสรี ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้แก่ องค์การเภสัชกรรม หรือว่าบริษัทเอกชนต่างๆ แต่ในความเป็นจริงการแข่งขันจะไม่เสรีจริง เนื่องจากยาที่สั่งผ่านองค์การเภสัชกรรม จะต้องมีการแจ้งราคาล่วงหน้าเป็นปีๆ ไปก่อนแล้ว จะทำให้เกิดการเสียเปรียบ ทำให้บริษัทอื่นรู้ว่าองค์การเภสัชกรรมจะขายเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นเขาจะขายเท่าไหร่ เขาก็ดูจากราคาขององค์การเภสัชกรรมได้ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ไม่เสรีแล้ว
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ หลักฐานการขายยาขององค์การเภสัชกรรม สามารถตรวจสอบได้ ยกตัวอย่างเช่น สรรพากรอยากรู้ว่าร้านขายยาขายยาไปเท่าไหร่ น่าจะได้กำไรเท่าไหร่ และต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ถ้าเขาไปตรวจเช็คที่บริษัทยาหรือโรงงานยาที่เป็นของเอกชน หลักฐานพวกนี้จะไม่สมบูรณ์เหมือนองค์การเภสัชกรรม ที่มี หลักฐานชัดเจน ว่า ร้าน ก ร้าน ข ขายไปเท่าไหร่ ร้านขายยาจึงไม่กล้าซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมไปขาย เพราะกลัวต้องถูกตามเก็บภาษีทุกเม็ด ทุกเเค็ปชูล เพราะอย่างนี้ องค์การเภสัชกรรมก็ขายยาสู้โรงงานเอกชนไม่ได้
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ยังมีอีกหลายเรื่อง ถ้าองค์การเภสัชกรรมเสียเปรียบอย่างนี้ก็ไม่เป็นธรรม ยาส่วนใหญ่ที่บริษัทเอกชนจะผลิต เขาจะเลือกผลิตเฉพาะยาที่ขายได้ แต่องค์การเภสัชกรรมต้องผลิตยาที่เราเรียกว่ายากำพร้า คือยาที่มีคนใช้จำนวนน้อยแต่ว่าจำเป็นต้องผลิต เมื่อผลิตออกมากำไรมันน้อยหรือไม่มีกำไรเลย สำหรับบริษัทเอกชนหรือโรงงานเอกชนเขาจะไม่ผลิต เขาจะเลือกผลิตเฉพาะยาที่ขายได้จำนวนมากๆ องค์การเภสัชกรรมต้องมานั่งผลิตยาที่ไม่ได้กำไร หรือสมมุติว่ายาที่เราทำซีแอล องค์การเภสัชกรรมจะต้องสั่งชื้อเข้ามา หรืออนาคตองค์การเภสัชกรรมกำลังผลิตยาที่เราทำซีแอล ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถขายยาเอากำไรได้ อย่างนี้องค์การเภสัชกรรมก็ต้องทำฟรี บริหารจัดการฟรี ตรงนี้เอกชนมาช่วยทำไม่ได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม องค์การเภสัชกรรมต้องเอายาไปช่วย เกิดภัยพิบัติต่างๆ องค์กรเอกชนก็ไม่ต้องช่วย ถ้าจะให้เกิดเสรีมันต้องคิดโดยรอบคอบหลายๆ ส่วน
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยขอต่อรองยกเว้นในกรณีขององค์การเภสัชกรรม เรื่องยาและเครื่องมือแพทย์และวัสดุที่ไม่ใช่ยา เป็นเวลา 5 ปี เพื่อปรับระบบบริหารจัดการ การผลิต การขาย การตลาดต่างๆ ให้เหมาะสม โดยได้ตั้งคณะกรรรมการขึ้นมาศึกษา 1 ชุด โดยให้นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรมเป็นประธาน แล้วออกระเบียบเพื่อให้เป็นระเบียบรองรับชั่วคราวในช่วงนี้ไปก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เมื่อครบ 5 ปี ก็จะดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อไป
****************************** 21 พฤศจิกายน 2550
View 9
21/11/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ