กระทรวงสาธารณสุข เผยปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล        มีปัญหาในบางพื้นที่ ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติ แนะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ หากออกนอกบ้านแนะใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัย      

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยในสุขภาพประชาชน ได้สั่งการให้เฝ้าระวังติดตาม สถานการณ์และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโรคทางเดินหายใจ วันนี้ได้รับรายงานจากกรมควบคุมมลพิษผลการตรวจค่าฝุ่นละอองในอากาศในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า (12 กุมภาพันธ์ 2561) ยังพบค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ใน 6 จุดคือ สถานีตรวจวัดริมถนนอินทรพิทักษ์, ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง,  ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง  จ.สมุทรปราการ  เขตธนบุรี , ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง, แขวงพลับพลา  ในส่วนของสถานการณ์ผู้ป่วย จากการเฝ้าระวังของโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน มีรายงานผู้ป่วยโรคตาแดงมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรงหรือผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนหรือการเสียชีวิต โรคไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มลดลง และโรคปอดอักเสบแนวโน้มคงที่ 
 
          อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในขณะนี้พบมีปัญหาเกินค่ามาตรฐานเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น   ประชาชนส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ออกกำลังกายได้ตามปกติ ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ  อาจมีอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น ระคายเคือง แสบตา แสบจมูก น้ำมูกไหล ไอ คอแห้ง เจ็บคอ หายใจลำบาก อึดอัดแน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ควรงดออกจากบ้าน หากออกนอกบ้านแนะใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากหรือใส่หน้ากากอนามัย  ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข  ออกให้ความรู้แก่ประชาชน แนะนำดูแลสุขภาพให้แข็งแรง แจกหน้ากากอนามัยกลุ่มเสี่ยง และบริการประชาชนต่อเนื่อง
 
         ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระบบ ได้แก่ 1.ระคายเคืองทางเดินหายใจ 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.ระคายเคืองตา ตาอักเสบ และ4.กลุ่มผิวหนังอักเสบ ทั้งนี้ ความรุนแรง ขึ้นกับระยะเวลาการสัมผัส อายุ ความต้านทานแต่ละบุคคล ความเข้มข้นของปริมาณฝุ่นละออง ประวัติการป่วยเป็นโรคปอดหรือโรคหัวใจและอื่น ๆ อยู่แล้ว อาการที่ปรากฏเริ่มตั้งแต่ขั้นเล็กน้อยจนถึงรุนแรง สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยง่ายกว่าคนทั่ว ๆ ไปที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ให้ติดตามคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการสูดละอองฝุ่น ในช่วงที่ค่าฝุ่นละอองเกินค่าเฉลี่ยมาตรฐาน งดกิจกรรมกลางแจ้ง และสังเกตอาการของตนเองและสำรองยาให้เพียงพอ หากมีอาการผิดปกติ เช่นแน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม แสบตา ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที หรือโทรสายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 
****************************** 12 กุมภาพันธ์ 2561
 
 
 
 
 
***************************


   
   


View 29    13/02/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ