รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยเหตุจำเป็นที่ไทยต้องตัดสินใจทำซีแอล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคนจน มั่นใจกระบวนการที่ไทยทำ โปร่งใส ปราศจากการแสวงหากำไร พร้อมให้องค์การอนามัยโลกตรวจสอบ พร้อมแย้มข่าวดีคนไทยเรื่องยารักษามะเร็ง ไทยอาจไม่ต้องทำซีแอล บ่ายวันนี้ (21 พฤศจิกายน 2550) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวสุนทรพจน์เรื่อง สุขภาพและการเข้าถึงยาในประเทศไทย ในการประชุมนานาชาติเรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิ : นวัตกรรมและการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า (International Conference on Compulsory Licensing : Innovation and Access for All) จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และองค์กรภาคี ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2550 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ในเรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licensing : CL) และยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาในและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการยืดหยุ่นอื่นๆ ตามความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือทริปส์ (TRIPs) และการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงยาของประชาชน รวมทั้งสร้างความร่วมมือเครือข่ายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมนานาชาติครั้งนี้ มีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องด้านสิทธิบัตร การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการเข้าถึงยา กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา จากภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรอิสระ และผู้บริโภค อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัย 12 แห่ง มูลนิธิสาธารณสุขเพื่อการพัฒนา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรหมอไร้พรมแดน องค์การอนามัยโลก องค์การ อ็อกแฟม และหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจจากต่างประเทศ อาทิ บราซิล อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน แคนาดา ร่วมประชุมประมาณ 280 คน ข้อมูลที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ จะใช้เป็นฐานสำคัญในการผลักดันให้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในอนาคตด้วย นายแพทย์มงคลกล่าวว่า การประกาศใช้ซีแอลของไทยในยาต้านไวรัสเอดส์ 2 รายการ ยารักษาโรคหัวใจ 1 รายการในปี 2550 ได้รับการต่อต้านอย่างมากจากผู้เสียผลประโยชน์ในต่างประเทศ ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมยา หน่วยงานภาครัฐบางหน่วย และสื่อมวลชนบางฉบับ “จากประสบการณ์ในชีวิตการเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีสาธารณสุข ไม่เคยมีนโยบายสาธารณสุขใดถูกคัดค้านแบบนี้มาก่อน ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีนโยบายใดที่ได้รับการสนับสนุนมากเช่นนี้ โดยได้รับจดหมายสนับสนุนจาก พญ.มากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก นพ.ปีเตอร์ ปีอ็อต ผู้อำนวยการใหญ่โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ รวมทั้งประธานาธิบดีคลินตัน และวุฒิสมาชิกสหรัฐมากกว่า 30 คน ที่สำคัญที่สุดคือองค์กรเอกชน เช่น องค์กรหมอไร้พรมแดน (Medicins Sans Frontieres : MSF) องค์การ อ็อกแฟม (OXFAM) มูลนิธิคลินตัน สถาบันนิเวศวิทยาการเรียนรู้ ของ ดร.เจมี เลิฟส (Knowledge Ecology Institute) เครือข่ายโลกที่สาม (Third World Network : TWN) ต่างให้การสนับสนุน ทำให้รู้ว่าองค์กรเหล่านี้คือกัลยาณมิตรที่แท้จริงในการทำเพื่อประชาชนที่มีฐานะยากจน” นายแพทย์มงคลกล่าว นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า การทำซีแอล ของไทยที่ผ่านมา ถูกบางฝ่ายในนานาชาติ กล่าวหาว่าไม่โปร่งใส กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอให้องค์การอนามัยโลก ส่งผู้เชี่ยวชาญมาประเมินกระบวนการทำซีแอล ตามมติที่ประชุมองค์การอนามัยโลกเมื่อ 3 เดือนก่อน คาดว่าจะประเมินเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2550 นี้ และขอย้ำว่า อุตสาหกรรมยาเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนบริการสุขภาพที่จำเป็น ไม่ใช่ศัตรู และจะมีความสุขมากหากได้ทำงานใกล้ชิดร่วมกันเพื่อช่วยคนยากจน เช่น บริษัทเมิร์ค (Merck) ที่ตัดสินใจที่ให้ยาไอเวอเมคทิน (Ivermectin) รักษาโรคตาบอดชนิดที่เรียกว่าริเวอร์ บลายด์เนส (river blindness) ในแอฟริกา โดยไม่จำกัดจำนวนและระยะเวลา และที่จะเป็นเป็นข่าวดีของคนไทย เมื่อไม่นานมานี้บริษัทโนวาทิสได้เสนอให้ยาอิมาทินิบ (Imatinib) รักษาโรคมะเร็งฟรีอย่างไม่มีเงื่อนไขแก่ผู้ป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยไม่จำกัดจำนวนและเวลา กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา ซึ่งหากสำเร็จก็ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำซีแอล เพื่อซื้อยาสามัญตัวนี้ในราคาถูกต่อไป นอกจากนี้การเจรจากันทำให้เกิดความคิดใหม่ ๆ จากอุตสาหกรรมยา ที่จะช่วยให้ไทยประสบความสำเร็จในการเข้าถึงยาที่จำเป็น ในขณะเดียวกันรัฐก็อนุญาตให้บริษัทสามารถทำกำไรจากคนรวย เพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนายาต่อไป นายแพทย์มงคลกล่าว สำหรับผลของการประกาศใช้ซีแอล ในยาต้านไวรัสเอดส์ เมื่อ 24 มกราคม 2550 รัฐบาลได้มีนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ หรือ เอ อาร์ วี (Anti-retroviral drugs : ARVs) แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ซึ่งไทยมีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 5 แสนคน พบว่าเกิดผลดีอย่างมาก ในปี 2550 มีผู้ป่วยเอดส์ได้รับยาต้านไวรัส 103,000 คน งบกว่าร้อยละ 90 มาจากเงินงบประมาณ ผลการประเมินชี้ชัดว่าทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยเอดส์ดีขึ้นอย่างมาก ในรอบ 10 เดือนปี 2550 มีรายงานผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตเพียง 900 คน ขณะที่ปี 2544 มีรายงานผู้เสียชีวิต 8,000 กว่าคน ในปี 2551 จะให้บริการยาต้านไวรัสครอบคลุมผู้ป่วยเอดส์ได้ 130,000 คน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 จะขยายความครอบคลุมไปถึงการเปลี่ยนไตแก่ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายและผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งจะช่วยชีวิตได้อีกนับล้านคน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยกำลังเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอี่น ๆ ทั้งการขาดการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาโรคที่ถูกละเลยซึ่งกำลังรุนแรงขึ้น และการถูกจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ที่จำเป็นต่อสุขภาพจากข้อจำกัดด้านสิทธิทางปัญญา สิทธิบัตร แม้ในปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยให้ยืนยาวขึ้นแต่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้คนยากจนที่ขาดแคลนอยู่แล้วต้องล้มละลาย กระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดบริการประชาชน จึงได้ผลักดันนโยบายการให้บริการสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิได้รับบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน โดยในปี 2550 รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินงบประมาณพัฒนาด้านสุขภาพเพิ่มจากร้อยละ 4 ในปี 2523 เป็นร้อยละ 12 ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นแก่คนไทย และช่วยยืดอายุแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นเอดส์ มะเร็งได้มากขึ้น ****************************** 21 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 12    21/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ