รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมเขตบริการสุขภาพที่ 6 ให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาคุณภาพบริการพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน แรงงาน และนักท่องเที่ยง ตามนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล

      วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2561) ที่โรงพยาบาลระยอง จ.ระยอง ศาสตราจารย์ คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมเขตบริการสุขภาพที่ 6 ว่า รัฐบาลได้กำหนดให้ 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำแผนพัฒนาด้านสาธารณสุขระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) รองรับนโยบายดังกล่าว เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน แรงงาน และนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 2.8 ล้านคน เป็น 13 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งความสมดุลของสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย โดยมีโรงพยาบาลคุณภาพ ประชาชนและคนวัยทำงานปลอดภัย นักท่องเที่ยวเข้าถึงบริการ 
 
      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระยะ 3 ปีแรก (ปี 2560-2562) เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วย การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศักยภาพการให้บริการด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เป็นเลิศสอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมในพื้นที่  การพัฒนาระบบบริการรองรับการขยายตัวของประชากรและแรงงาน โดยจะเพิ่มเตียง 746 เตียง คลินิกอาชีวเวชศาสตร์ในโรงพยาบาลชุมชน 23 แห่ง หน่วยดูแลผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก 30 เตียง และเพิ่มห้องผ่าตัด ไอซียู ไอซียูเด็ก ห้องฉุกเฉินคุณภาพ พัฒนาโรงพยาบาลระยองให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์  เตรียมแผนจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัยที่ครอบคลุม ทั้งการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล แผนรองรับสถานการณ์การระเบิด/รั่วของสารเคมี รังสี น้ำมัน พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค อนามัยสิ่งแวดล้อมและป้องกันภัยคุกคามอื่นๆ รวมทั้งการผลิตและฝึกอบรมบุคลากรสาขาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมอาทิ แพทย์ประจำบ้านสาขาอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม พยาบาลเฉพาะทางอาชีวอนามัย เป็นต้น
 
     นอกจากนี้ จะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน จัดทำแผนรองรับอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical Hub) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูง มีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่น ทันตกรรม ความงาม ห้องปฏิบัติการ สนับสนุนและกำกับมาตรฐานของธุรกิจบริการสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชน สปา เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระยะยาว (Long Stay for Health) ให้ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล
****************************************** 5 กุมภาพันธ์ 2561
 
 


   
   


View 36    05/02/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ