โรงพยาบาลสงขลา เพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ด้วยห้องอีอาร์คุณภาพ 2 แห่ง รองรับการให้บริการของประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

​          นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ภายหลังตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ โรงพยาบาลสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มุ่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลทุกระดับให้มีมาตรฐาน สามารถจัดบริการให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและลดความพิการของผู้ป่วย โดยยกระดับห้องฉุกเฉิน หรือห้องอีอาร์ ให้เป็นห้องอีอาร์คุณภาพ (EMERGENCY QUALITY) มีการเชื่อมโยงระบบการทำงานตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ สามารถให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินได้เบ็ดเสร็จภายในเขตสุขภาพ ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง เครื่องช่วยชีวิตที่ได้มาตรฐาน รถพยาบาลที่ปลอดภัย มีระบบคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินชัดเจน ผู้ป่วยวิกฤติต้องได้รับการรักษาด่วน สามารถใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ทุกสิทธิ (UCEP) ตลอด 24 ชั่วโมง

​          นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นโรงพยาบาลที่มีห้องอีอาร์คุณภาพ (EMERGENCY QUALITY) ถึง 2 แห่ง เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการ คือ ที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสงขลา ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (โรงพยาบาลสงขลาเดิม) และโรงพยาบาลสงขลา ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ในปัจจุบันมีพยาบาลคัดกรองหน้าห้องฉุกเฉินทุกเวร มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต กำหนดระยะเวลาให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตอยู่ในห้องฉุกเฉินไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อส่งรักษาต่อไป มีการแจ้งสถานะผู้ป่วยอยู่ในขั้นวิกฤตระดับใดให้ญาติทราบผ่านจอโทรทัศน์ นอกจากนี้ยังมีบริการคลินิกนอกเวลาเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลรวมถึงมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งมีหน่วยงานตั้งอยู่ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด คอยอำนวยความสะดวกตลอด 24 ชั่วโมง

​          สำหรับในปี 2560 โรงพยาบาลสงขลามีประชาชนแจ้งเหตุผ่านศูนย์แจ้งเหตุและสั่งการฯ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และสายด่วน 1669 จำนวน 6,202 ครั้ง รถกู้ชีพให้บริการถึงจุดแจ้งเหตุภายในเวลา 8 นาที คิดเป็นร้อยละ 81.44 มีสถิติการบริการแผนกการแพทย์ฉุกเฉินทั้งที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองสงขลาและที่โรงพยาบาลสงขลา รวม 90,606 ครั้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรงระดับวิกฤต เพียงร้อยละ2.2 เจ็บป่วยฉุกเฉินระดับปานกลางร้อยละ 57.3 มีอัตราการรอดชีวิตถึงร้อยละ 88 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการยกระดับห้องฉุกเฉินให้เป็นห้องอีอาร์คุณภาพซึ่งมีระบบบริการที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่ายได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการอย่างสะดวกและรวดเร็ว โทรสายด่วน 1669เพื่อขอรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ได้ตลอด24 ชั่วโมง

************************* มกราคม 2561

 

 



   
   


View 31    21/01/2561   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ