สาธารณสุข เผยสถานการณ์ความรุนแรงสังคมไทยสูงขึ้น ในปี 2549 พบผู้บาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกายมากกว่า 2 แสนคน เสียชีวิต 3,000 กว่าคน ร้อยละ 60 อยู่วัยหนุ่มสาว กว่าครึ่งเมาเหล้า ชายมากกว่าหญิง 7 เท่าตัว และพบเด็กอายุอายุต่ำกว่า 1 ปี ถูกทำร้ายปีละ 5-7 คน โดย 1 ใน 3 ใช้วัตถุมีคมทำร้าย ขณะที่แนวโน้มเด็กและสตรีถูกกระทำรุนแรงทางเพศทางร่างกายมีมากขึ้น โดยในปี 2549 มีจำนวน 13,550 คน เฉลี่ย 37 คนต่อวัน นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้สังคมไทยมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ สำนักระบาดวิทยา ได้รายงานการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลศูนย์ 24 แห่งทั่วประเทศ ใน พ.ศ. 2549 เพียงปีเดียว มีผู้บาดเจ็บจากการถูกทำร้ายร่างกายเข้ารับการรักษาทั้งหมด 216,037 คน เฉลี่ยวันละ 591 คน เสียชีวิต 3,086 คน เฉลี่ยวันละ 8 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้บาดเจ็บรุนแรง 14,448 คน เสียชีวิต 742 คน หากเปรียบเทียบกับสถิติในปี 2545 พบว่าการบาดเจ็บในปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยในปี 2545 ผู้บาดเจ็บรุนแรง 9,973 คน เสียชีวิต 601 คน ผู้บาดเจ็บรุนแรงส่วนใหญ่เป็นชายมากกว่าหญิง 6-7 เท่า โดยกลุ่มอายุ 15-29 ปี ถูกทำร้ายสูงสุด รองลงมาคืออายุ 30-44 ปี พบเด็กต่ำกว่า 1 ปีถูกทำร้าย ปีละ 5-7 คนและเสียชีวิตปีละ 1-2 คน ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นผู้ใช้แรงงาน โดยพบนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 12 เหตุมักเกิดในวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ มักเกิดตอนกลางคืน สถานที่เกิดเหตุนั้นพบในบ้านร้อยละ 35 ที่ถนน ร้อยละ 29 และสถานที่ค้าขายสินค้าและบริการ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า การทำร้ายที่พบบ่อยที่สุด ส่วนใหญ่ใช้วัตถุมีคม รองลงมาคืออาวุธปืน โดยร้อยละ 59 ของผู้ที่ถูกทำร้ายมีการดื่มสุราร่วมด้วย ทั้งนี้ผู้บาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงดังกล่าว จัดอยู่ในระบบบริการประเภทฉุกเฉิน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายเครือข่ายให้บริการช่วยเหลือครอบคลุมทั่วประเทศ ประชาชนสามารถโทรขอความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงที่หมายเลข 1669 ฟรี นอกจากนี้ยังได้เปิดให้บริการคุ้มครองสตรีและเด็กจากการถูกกระทำรุนแรง โดยเปิดบริการสายด่วน 1669 ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 98 แห่ง และขยายในโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่งได้แก่ ร.พ.บ้านนา นครนายก ร.พ.ประชาธิปัตย์ ปทุมธานี ร.พ.แก่งคอย สระบุรี ร.พ.นภาลัย สมุทรสงคราม และ ร.พ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ใกล้ที่สุด ทางด้านนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ผลการเปิดศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีสตรีและเด็กเข้ารับบริการสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2547 จำนวน 6,951 คน เพิ่มเป็น 13,550 คนในปี 2549 เฉลี่ย 37 คนต่อวัน ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นสามีและบุคคลในครอบครัว สาเหตุหลักมาจากการสุราและติดสารเสพติด ในเด็กจะพบถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ส่วนในสตรีจะถูกทำร้ายร่างกายเป็นส่วนใหญ่ ผลกระทบของความรุนแรงทำให้เกิดการสูญเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจ มีค่าสูงถึง 36,687 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2550 นี้ เป็นเดือนรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะจัดสัมมนาวิชาการศูนย์พึ่งได้ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 นี้ที่โรงแรมมิราเคิล เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีที่เหมาะกับประเทศไทย นายแพทย์ศุภชัยกล่าว *********************** 18 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 11    18/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ