กระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ในฤดูกาลปลายฝนต้นหนาว อากาศเริ่มหนาวเย็นลง อาจทำให้เชื้อไวรัสไข้หวัดนกหวนกลับมาระบาดได้อีก ย้ำเตือนประชาชน หากมีสัตว์ปีกป่วย ตายผิดปกติ ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที อย่านำมาเชือดกินอย่างเด็ดขาด และหมั่นล้างมือฟอกสบู่ หลังจับหรือสัมผัส สิ่งของ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในไทยเริ่มเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว อากาศหนาวเย็นลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นฤดูกาลที่เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดีที่สุด โดยเฉพาะไวรัสไข้หวัดนก แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่พบการติดเชื้อในคนติดต่อกันมาเป็นเวลา 14 เดือนเศษก็ตาม แต่ประมาทไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถมองเห็นเชื้อโรคได้ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังผู้เจ็บป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดบวม ปอดอักเสบ ให้ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก หรือประวัติสัตว์ปีกที่บ้านตายผิดปกติทุกราย เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ทันท่วงที ส่วนในระดับหมู่บ้าน ได้ประสานความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 800,000 คน เฝ้าระวังสัตว์ปีกตายและการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบทุกวัน และขอความร่วมมือประชาชนทุกคน หากมีสัตว์ปีกในบ้านหรือใกล้เคียงป่วยตายผิดปกติ ห้ามนำมาเชือดกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมีความเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดนกสูง ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเก็บซากสัตว์ไปตรวจหาเชื้อว่าเป็นไข้หวัดนกหรือไม่ ซึ่งจะสามารถวางแผนป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า สำหรับความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยหากมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดนก ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สร้างห้องแยกปลอดเชื้อในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงขึ้นไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยเช่นกาญจนบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ มีครบทุกแห่งแล้ว นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา ได้เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวมที่รักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในข่ายการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกด้วยทุกวัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 – 15 พฤศจิกายน 2550 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานทั้งหมด 2,036 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนก อย่างไรก็ตาม ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ขอให้ประชาชนล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังหยิบจับสิ่งของแล้ว และไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์ปีก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เนื่องจากการติดเชื้อไข้หวัดนกมักติดเชื้อโดยทางตรงคือการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่มีเชื้อหรือป่วย และติดจากการสัมผัสมูลสัตว์ปีก น้ำมูก น้ำตา น้ำลายของสัตว์ที่ป่วย โดยหลังติดเชื้อประมาณ1-3 วัน จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ หากประชาชนรายใดมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ปีก ได้แก่ ผู้เลี้ยง ฆ่า ขนส่ง ขนย้าย ขายสัตว์ปีก หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับซากสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์และบอกประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกให้แพทย์และพยาบาลทราบ อย่าปิดบังเด็ดขาด เนื่องจากจะมีผลเสียต่อการดูแลรักษา สำหรับสถานการณ์การป่วยด้วยโรคไข้หวัดนกทั่วโลก ในปี 2550 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 พฤศจิกายน 2550 นี้มีรายงานใน 7 ประเทศได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย ลาว ไนจีเรียและเวียดนาม ป่วยรวมทั้งหมด 72 ราย เสียชีวิต 48 ราย โดยมากที่สุดที่ประเทศอินโดนีเซีย ป่วย 38 ราย เสียชีวิต 33 ราย รองลงมาคืออียิปต์ป่วย 20 ราย เสียชีวิต 5 ราย และประเทศเวียดนามป่วย 7 รายเสียชีวิต 4 ราย พฤศจิกายน4/2 ****************************** 17 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 16    17/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ