รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยการแก้ไขปัญหาสุขภาพชายแดนใต้ปี 2551 รวมแผนงานทุกกรมกำหนดเป็นวาระของพื้นที่ ดูแลทั้งสุขภาพกายและใจ โดยให้อสม.เข้าช่วยในการลงพื้นที่ พร้อมเจรจา ก.พ. แก้ไขระเบียบให้แพทย์จบใหม่เรียนต่อเฉพาะทางสาขาขาดแคลนได้ โดยไม่จำเป็นต้องพ้นทดลองงาน บ่ายวันนี้ (15 พฤศจิกายน 2550) ที่ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) จ.สงขลา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมประชุมกับคณะกรรมการศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) เพื่อวางแนวทางดำเนินงานแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2551 ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายแพทย์มงคล กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากบางแห่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ ทำให้ปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่มีอยู่เดิม กลายเป็นปัญหาเรื้อรังและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เช่น หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่มาคลอดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้การตายของแม่และเด็กหลังคลอดสูง เด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวต่ำกว่า 2,500 กรัม มีภาวะขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกเกิด รวมทั้งโรคติดต่อและโรคเรื้อรัง ที่สำคัญได้แก่ ไข้เลือดออก อุจจาระร่วงในเด็ก หนอนพยาธิ วัณโรค ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับแนวทางการทำงาน โดยจัดตั้งศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2549 เพื่อประสานและเชื่อมโยงการดำเนินงานแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ากับนโยบายของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ทำให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ สำหรับในปีงบประมาณ 2551 ศบ.สต. ได้วางแผนแก้ปัญหาสุขภาพ โดยบูรณาการแผนงานของทุกกรมและกำหนดเป็นวาระสำคัญของพื้นที่ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพบริการจิตเวชในโรงพยาบาล 37 แห่ง เน้นการดูแลปัญหาโรคซึมเศร้า การพัฒนาคุณภาพงานอนามัยแม่และเด็ก การพัฒนาคุณภาพส้วมและสิ่งแวดล้อม การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อสำคัญ โดยจะให้ อสม. เข้ามาร่วมในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งช่วยเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่จึงได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากชาวบ้าน นายแพทย์มงคล กล่าวต่ออีกว่า สำหรับปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมา แม้จะมีการเปิดโควต้าให้แพทย์เข้าศึกษาต่อได้หลังทดลองปฏิบัติงานครบ 1 ปี แต่ยังมีแพทย์สมัครน้อย ดังนั้น ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงทำความตกลงกับ ก.พ. ให้แพทย์ที่ต้องการขอรับทุนทำงานในโรงพยาบาลพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ได้แก่ นาทวี เทพา จะนะ และสะบ้าย้อย สามารถเข้าศึกษาต่อเฉพาะทางในสาขาที่ขาดแคลน ได้แก่ ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมกระดูก ศัลยกรรมประสาท อายุรศาสตร์ และวิสัญญีวิทยา โดยไม่ต้องรอให้พ้นการทดลองปฏิบัติราชการ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 นี้ ขณะนี้ได้ประสานกับแพทยสภา และมอบให้แต่ละจังหวัดพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วนแล้ว *************************** 15 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 31       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ