กระทรวงสาธารณสุขจับมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สร้างความปลอดภัยผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ มีคู่มือและแบบประเมินให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและเป็นประเทศต้นแบบการพัฒนานโยบายอาหารปลอดภัยสำหรับภูมิภาคเอเชีย
วันที่ (1 ธันวาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Mr.Sridhar Dharmapuri ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัยและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค (FAO Regional Representative for Asia and the Pacific) ร่วมกันแถลงข่าวผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาความเข้มแข็งระบบการควบคุมความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ตลอดห่วงโซ่ โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สมาคมผู้ผลิตสุกรและไก่ และผู้เกี่ยวข้องด้านอาหารปลอดภัยจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ ผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เข้าร่วมงาน
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเจตนารมณ์ในการ บูรณาการทำงาน เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยโครงการ “เสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการของสถาบันที่กำกับดูแลความปลอดภัยและคุณภาพอาหารประเภทเนื้อสัตว์ตลอดห่วงโซ่” ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจากฟาร์ม การฆ่า การตัดแต่ง การขนส่ง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จนถึงการจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ได้จัดทำคู่มือแนวทางการควบคุม กำกับดูแล และข้อควรปฏิบัติสำหรับการผลิต จำหน่าย และการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่ เป็นคู่มือมาตรฐานกลาง และพัฒนาแบบประเมิน ตรวจสอบความสมบูรณ์ของการควบคุม กำกับดูแลของภาครัฐในทุกขั้นตอน ที่สำคัญที่สุดคือเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตทั้งโรงงานผลิตอาหาร โรงฆ่าสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะหมูและไก่ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในกรณีเกิดปัญหาความปลอดภัยของอาหาร
จากการนำคู่มือแนวทางและแบบประเมินไปทดลองใช้ใน 2 จังหวัดนำร่อง คือ เชียงใหม่ และสระบุรี พบว่าสามารถใช้แก้ไขปัญหาได้จริง ช่วยขจัดปัญหาความทับซ้อนในการทำงาน เนื่องจากทุกหน่วยงานจะเข้าใจบทบาทหน้าที่ วิธีการปฏิบัติของหน่วยงานอื่นๆ อย่างชัดเจน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะมีการนำแบบประเมินไปใช้ในโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ที่สนับสนุนให้โรงพยาบาลมีการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุม ตรวจสอบ คุณภาพความปลอดภัยของอาหารทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต วัตถุดิบ การขนส่ง ให้ได้มาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถสร้างความมั่นใจและสุขภาพที่ดีแก่ผู้ป่วยและประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาล นอกจากนั้นได้วางแผนขยายการประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัยและโภชนาการ เอฟเอโอ กล่าวเสริมว่า เอฟเอโอได้คัดเลือกประเทศไทยเป็นประเทศนำร่องในการศึกษาระบบการทำงานบูรณาการของสถาบันหลักด้านความปลอดภัยอาหาร เพื่อเป็นแบบอย่างในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคู่มือที่ได้จากโครงการครั้งนี้ นับเป็นคู่มือที่เป็นแนวทางมาตรฐานและมีประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงขอให้มีการจัดแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปเผยแพร่และใช้เป็นตัวอย่างในกลุ่มประเทศเอเชียต่อไป **************************************** 1 ธันวาคม 2560
View 30
01/12/2560
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ