กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการภาครัฐและเอกชน พัฒนาระบบการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ตั้งเป้าให้ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม จัดศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ดวงตา เร่งรณรงค์ให้ประชาชนให้ความสำคัญและสนใจบริจาคอวัยวะ ถือเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ เป็นการให้ครั้งสุดท้ายของชีวิต

วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2560) ที่โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ นายแพทย์เจษฎา   โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกลางปี ครั้งที่ 12 จัดโดยสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข  สภากาชาดไทย  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง รวมทั้งแพทย์  พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายอวัยวะในสถานพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม

นายแพทย์เจษฎา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้การรับหรือการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service plan ) สาขาที่ 13 และศูนย์บริการที่เป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ สาขาที่ 5 โดยกำหนดให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อมรับบริจาคอวัยวะและดวงตาผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย บูรณาการทำงานร่วมกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะและศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ผลการดำเนินการในปีงบประมาณ 2560 มีผู้บริจาคอวัยวะ 286 ราย ช่วยให้ผู้ป่วยได้ปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว 643 ราย และในปี 2561 กระทรวงสาธารณสุข จะเน้นการรับบริจาคอวัยวะ และดวงตา พัฒนา ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant center) และ พัฒนาทีมนำอวัยวะออก (Regional Harvesting Team) เพื่อสามารถดำเนินการได้ภายในเขตสุขภาพ รวมไปถึงการวางแผนสนับสนุนทรัพยากร ซึ่งความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมายได้นั้น ต้องขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่จะได้ร่วมกันดำเนินงาน สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญและสนใจที่จะบริจาคอวัยวะและดวงตาเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่าย ไม่ทอดทิ้งและเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน

การปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการรักษาทางการแพทย์ที่ประสบความสำเร็จ สามารถช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยด้วยโรคอวัยวะสำคัญ เช่น ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้ได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าท้ายที่ต้องอาศัยการศึกษา วิจัย และความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้องในวงการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยพบว่า ปัญหาการขาดแคลน ผู้บริจาคอวัยวะเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุด ทั้งที่ผู้ป่วยสมองตายจากอุบัติเหตุในประเทศไทยมีจำนวนมากแต่จำนวนผู้อุทิศอวัยวะยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้นการรณรงค์ในการบริจาคอวัยวะจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อต่อลมหายใจของผู้ป่วยที่รอความหวัง ถือว่าเป็นทานบารมีที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่สุดแห่งการให้ครั้งสุดท้ายของชีวิต

********************************* 23 พฤศจิกายน 2560



   
   


View 33    23/11/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ