“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 368 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแสดงแนวคิดในเวทีโลก เสนอ 4 แนวทางหยุดวัณโรค นโยบายเข้มแข็ง เสริมแรงด้วยความรู้ รวมหมู่เป็นเจ้าของ ต้องก้าวต่อเนื่อง โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่รังเกียจ ลดการตีตรา และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ศาสตราจารย์ คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วย “การยุติวัณโรคในยุคเป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน : ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”ครั้งที่ 1 ประเด็น “การยุติการระบาดวัณโรค : มุมมองจากประเทศที่มีการป่วยตายด้วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาสูง” ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย
ศาสตราจารย์ คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคน ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษารวมทั้งผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา มีโอกาสเข้าถึงยาและการรักษา ซึ่งการมีหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะยุติปัญหาวัณโรค ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันจึงจะแก้ไขปัญหาวัณโรคได้ ซึ่งแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มี 4 แนวทาง คือ 1.“นโยบายเข้มแข็ง” ต้องผลักดันการแก้ไขปัญหาวัณโรคให้เป็นนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การยุติปัญหาวัณโรคระดับชาติที่รับรองโดยคณะรัฐมนตรี 2.“เสริมแรงด้วยความรู้”การหยุดวัณโรคจำเป็นต้องใช้ความรู้เพื่อที่จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งเครือข่ายนักวิจัยไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง Thai TuRN (Thai Tuberculosis Network) เพื่อร่วมกันพัฒนาความรู้นำมาช่วยแก้ไขปัญหา เช่น การพัฒนายาสูตรใหม่ที่ใช้เวลารักษาสั้นกว่าเดิม การศึกษาทางพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อวินิจฉัยและรักษาวัณโรค รวมทั้งศึกษาปัจจัยทางสังคมที่จะช่วยลดการรังเกียจและตีตรา
3.“รวมหมู่เป็นเจ้าของ” จะเห็นได้จากการแก้ปัญหาโรคเอดส์ที่ประเทศไทยดำเนินงานมาด้วยดีเนื่องจากทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นการยุติวัณโรคให้หมดไปต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชน ต้องเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยวัณโรค และ4.“ต้องก้าวต่อเนื่อง” การแก้ไขปัญหาวัณโรคต้องดำเนินการต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง เพราะวัณโรคเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องติดตามในระยะยาว
“ฝากประชาชนไทยว่า พลังสังคมมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาสุขภาพ หากทุกคนรู้และตระหนักในบทบาทของตน ก้าวคนละก้าว ในที่สุด เราจะไปยืนอยู่ด้วยกัน ณ จุดหมายที่วางไว้ ส่วนผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่เป็นประชากรที่ขาดโอกาสและต้องทุกข์ทรมานจากการต้องกินยาหลายขนาน อยากให้ทุกคนเข้าใจ ไม่รังเกียจแบ่งแยก และอยากให้ชุมชนช่วยกันดูแลให้มีกำลังใจ กินยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการแพร่เชื้อวัณโรคไม่ได้ง่ายดายอย่างที่ทุกคนกังวล ภายหลังการรักษา 2 สัปดาห์ผู้ป่วยก็จะไม่แพร่เชื้ออีกต่อไป”ศาสตราจารย์ คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล กล่าว
*************** 18พฤศจิกายน 2560