กระทรวงสาธารณสุข เตือนภัยลูกหลานเด็กเล็ก หลังพบแม่ค้าในแถบจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ลักลอบนำขนมปังหมดอายุ มีราขึ้น หรือขนมปังตกมาตรฐาน มาตากแดด ปาดส่วนที่มีเชื้อราออก แล้วนำมาบรรจุใส่ถุงพลาสติก มัดเป็นพวงๆ ขายส่ง เร่ขายตามบ้าน ราคาถูกเพียงถุงละ 1 บาท ชี้อันตรายขนมราขึ้น เสี่ยงมะเร็งตับ สั่งสาธารณสุขจังหวัดและอสม.เข้มงวด ตรวจสอบ หากพบผู้ขาย จะมีความผิด มีโทษปรับไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท จำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเดินทางไปติดตามงานสาธารณสุขที่จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ได้รับรายงานว่า ในพื้นที่แถบนี้ มีพ่อค้าแม่ค้าในหมู่บ้าน นำขนมปังปอนด์ เช่นแซนวิช ขนมปังแผ่นทาใบเตย ขนมปังไส้ครีม ที่ผลิตจากโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่หมดอายุแล้ว มีราขึ้น หรือขนมปังกรอบไส้ครีมที่ตกเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตได้เปิดประมูลเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ แต่มีพ่อค้าดังกล่าวได้ประมูลมา แล้วนำมาตากแดด แล้วจ้างชาวบ้านในชนบท ตกแต่งโดยตัดส่วนที่มีเชื้อราขึ้นออก แล้วนำมาบรรจุใส่ในถุงพลาสติกเล็กๆ มัดเป็นพวงๆ พวงละ 12 ถุง แล้วนำมาขายส่งในตลาดสด ราคาพวงละ 9 บาท ให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยซึ่งคาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย นำไปขายปลีกในหมู่บ้าน หรือตระเวณเร่ขายให้เด็กๆ ตามหมู่บ้านในชนบท ราคาถุงละ 1 บาท นายแพทย์มรกตกล่าวว่า พฤติกรรมดังกล่าว เป็นเรื่องมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากผู้ที่ซื้อขนมประเภทดังกล่าวมักเป็นเด็กๆ ที่ไม่รู้ถึงพิษภัยอันตราย การปาดเอาส่วนที่เป็นเชื้อราออกและกินส่วนที่เหลือ เป็นการเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษจากเชื้อราได้ ซึ่งหากเป็นเชื้อราที่สร้างสารพิษ สารพิษก็จะซึมไปที่ด้านล่าง หรืออยู่รอบๆจุดที่ขึ้น สารพิษจากเชื้อราบางชนิดมีพิษสูงมาก การได้รับในปริมาณน้อยๆมีผลทำให้สารพิษสะสมในร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดเป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งตับ รวมถึงอาหารที่หมดอายุ มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ เช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ได้กวาดล้างขนมประเภทนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่พบมีการลักลอบขายอยู่เนืองๆจึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชน ครู องค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศและอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ร่วมกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องภัยอันตรายของลูกหลาน จากขนมเหล่านี้ ทั้งนี้ลักษณะของขนมหมดอายุแล้วนำมาแบ่งบรรจุใหม่ ขนมปังที่ผ่านการตกแต่งตัดส่วนที่เชื้อราขึ้นออกไปนี้ สังเกตได้ง่ายๆ ได้แก่ ไม่มีฉลากอาหารหรือมีฉลากที่ไม่ถูกต้อง เช่นไม่มีเครื่องหมาย อย. ไม่มีรายละเอียดสถานที่ตั้งของผู้ผลิต เป็นต้น ซึ่งข้อมูลบนฉลาก จะช่วยให้สืบหาผู้กระทำผิด เพื่อรับผิดชอบต่อผู้บริโภคได้ หากประชาชนพบเห็นขนมเหล่านี้ อย่าซื้อให้ลูกหลานกินอย่างเด็ดขาด และขอความร่วมมือให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือแจ้งผ่านสถานีอนามัยใกล้บ้าน หรืออสม. เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยผู้ขายมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร มีโทษปรับไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท จำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ทางด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อาหารทุกชนิดมีอายุการบริโภค เมื่อเก็บไว้นานๆจะมีการเสื่อมสภาพและสูญเสียคุณค่าทางอาหาร หากผู้บริโภคซื้ออาหารที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุมาบริโภค ก็อาจจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 เรื่องฉลาก กำหนดให้อาหารที่มีอายุการบริโภคไม่เกิน 90 วัน ต้องแสดงวัน เดือน และปีที่หมดอายุการบริโภค หรือวันเดือนและปีที่ควรบริโภคก่อน ไว้บนฉลากด้วย อย่างเช่นอาหารประเภทขนมปัง มักมีอายุการบริโภคไม่เกิน 7 วัน ดังนั้นก่อนเลือกซื้อและบริโภคอาหารทุกครั้ง ผู้บริโภคควรสังเกตวัน เดือนปี ที่หมดอายุ ก่อนการบริโภค นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหาร โดยเข้มงวดในการตรวจ เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดและแหล่งผลิต พร้อมประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวัง ตรวจ ติดตาม และลงโทษผู้กระทำผิด ทั้งแหล่งผลิตและจำหน่าย พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคใช้ช่องทางสายด่วนบริโภค 1556 ในการร้องเรียน เมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ******************************** 4 พฤศจิกายน 2550


   
   


View 12    04/11/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ