กระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนประชาชนร่วมเทศกาลกินเจ “อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย สุขภาพดี” ระหว่างวันที่ 20 – 28 ตุลาคม 2560 แนะประชาชนเลือกอาหารตามหลักโภชนาการ เน้นเต้าหู้ ถั่ว ผัก ผลไม้ ปลอดสารตกค้าง ได้ทั้งบุญและสุขภาพ 

วันนี้ (16 ตุลาคม 2560) ที่ตลาดรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย  เภสัชกรสมชาย ปรีชาทวีกิจ ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารแลยา และนายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าว  “กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย สุขภาพดี” วันที่ 20 – 28 ตุลาคม 2560 ว่า ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจของทุกปี จะมีประชาชนจำนวนมากร่วมกันรักษาศีลด้วยการปฏิบัติธรรม งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมารับประทานผัก ผลไม้ แทน โดยเชื่อว่า การกินเจเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ได้กุศล การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์ถือเป็นการเสริมบุญบารมี และยังเป็นการรักษาสุขภาพไปในตัว เพราะอาหารเจเน้นพืชผักเป็นหลัก อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนจากถั่วซึ่งย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์และไขมันมาก ทำให้ระบบย่อยอาหาร ทั้งกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ได้หยุดพักจากการทำงานหนักมาตลอดปี ถุงน้ำดีก็จะมีความแข็งแรงขึ้น และผักผลไม้มีกากใยที่ช่วยระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารทำงานได้ดี ช่วยขับของเสียและสารพิษที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย และยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย

กระทรวงสาธารณสุขต้องการให้ประชาชนได้อิ่มบุญ และมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ จึงขอให้คำนึงถึงหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้ขาดโปรตีน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการรับประทานแป้งมากเกินไป โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย เน้นเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่ว ธัญพืช และผักผลไม้หลากสี ที่สำคัญต้องไม่เค็ม ไม่หวาน และไม่มันมากเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุสำคัญการป่วยและเสียชีวิตของคนไทย ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด  เบาหวาน  ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง

สำหรับการปรุงอาหารเจขอให้ยึดหลัก 3 ประการ คือ อาหารปลอดภัย สะอาด และถูกหลักโภชนาการ โดยต้องเลือกซื้อวัตถุดิบในการปรุงประกอบอาหารที่เชื่อถือได้ผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการ ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดเพื่อลดสารพิษตกค้าง อาหารต้องปรุงประกอบสะอาด ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร ผู้ปรุง ผู้เสิร์ฟอาหารมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี ไม่ป่วยด้วยโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ สวมหมวกและผ้ากันเปื้อน ใช้อุปกรณ์ในการคีบหรือหยิบจับอาหาร นอกจากนี้ ขอให้เลือกซื้ออาหารเจ จากร้านที่ได้รับป้ายสัญญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste)

ด้านเภสัชกรสมชาย ปรีชาทวีกิจ ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารแลยา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้สุ่มตรวจผัก ผลไม้ และอาหารเจในตลาดและโรงงานผลิตด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (Test- kit) พบว่ากลุ่มผักและผลไม้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยผัก 56,927 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้างร้อยละ 1.54 มากที่สุดคือ ใบบัวบก รองลงมาได้แก่ หัวไชเท้า พริกแห้ง หัวหอม และผักชีฝรั่ง ส่วนในผลไม้ตรวจ 3,885 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้างร้อยละ 1.67 มากที่สุดคือสตรอเบอร์รี่ รองลงมาได้แก่ ส้ม มะละกอ ลำไย มังคุด

 

ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเจที่เช่น ลูกชิ้นปลาเจ ไส้กรอกเจ โปรตีนเกษตร เนื้อหมูเทียมเจ หมูแผ่นเทียมเจ ปลาเค็มเจ หมูยอเจ แป้งหมี่กึงไส้หมูเจ เนื้อเทียมเจ เนื้อเห็ดเจ ปลาหมึกเจ ผลการตรวจตลอดปีและก่อนเทศกาลกินเจ รวม 71 ตัวอย่าง พบมีดีเอ็นเอจำเพาะของเนื้อสัตว์ 3 ตัวอย่าง รอผลวิเคราะห์ 7 ตัวอย่าง ทั้งนี้กรณีพบดีเอ็นเอจำเพาะของเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นอาหารปลอม ผู้จำหน่ายปลีกให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และติดตามถึงแหล่งผลิตหรือนำเข้า ซึ่งผู้ผลิต/นำเข้าจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท

 

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีแนวทางในการใช้กฎหมายกับสถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) โดยจัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 386 พ.ศ. 2560 เรื่อง กำหนดวิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิตและการเก็บรักษาผักและผลไม้สดบางชนิดและการแสดงฉลากเพื่อพัฒนาและยกระดับสถานที่ผลิต (คัดและบรรจุ) ผักและผลไม้สด ให้มีระบบประกันคุณภาพและตามสอบย้อนกลับได้ สำหรับการเลือกซื้ออาหารเจที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ขอให้ประชาชนสังเกตฉลาก โดยจะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทย และแสดงชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นำเข้า ส่วนประกอบที่สำคัญ น้ำหนักสุทธิ วันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี)

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เฝ้าระวังอาหารในช่วงเทศกาลเจทุกปี ตั้งแต่ปี 2556-2559 ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการตัวอย่างอาหารเจจากตลาดที่ประชาชนนิยมซื้อพบว่า กลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ทุกตัวอย่างไม่พบการใช้บอร์แรกซ์ แต่ร้อยละ 63 พบมีดีเอ็นเอของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ไม่มีฉลาก กลุ่มผักผลไม้ ที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากตลาดค้าส่ง 5 แห่งทั่วประเทศในปี 2559 พบร้อยละ 3 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ส่วนกลุ่มผักดองตรวจไม่พบกรดซาลิซิลิค แต่ร้อยละ 74.5 ตรวจพบวัตถุกันเสียเกินเกณฑ์มาตรฐาน พบมากในผักกาดดอง/เกี๊ยมฉ่ายยำ ไชโป้วฝอย  อย่างไรก็ตามวัตถุกันเสียนั้นมีความเป็นพิษต่ำ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้อาจเกิดอาการผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จึงไม่ควรบริโภคอาหารเหล่านี้ครั้งละมาก ๆ

ทั้งนี้ การประกอบอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจ สำหรับผักสดผลไม้ควรล้างน้ำให้สะอาด ประชาชนสามารถหาซื้อชุดทดสอบเบื้องต้น (Test-kits) ตรวจอาหาร ผักและผลไม้อาหารอย่างง่าย เช่น ชุดตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สด ที่ร้านค้าองค์การเภสัชกรรม ชุดทดสอบยีสต์และเชื้อราในอาหารและเครื่องดื่ม ชุดทดสอบโคไลฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง ที่บริษัทยูแอนด์วี โอลดิ้ง (U&V holding)

************************************** 16 ตุลาคม 2560



   
   


View 36    16/10/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ