รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยการล้างช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นวิธีที่ดีที่สุด นอกจากช่วยขับของเสียออกจากร่างกายวันละหลายครั้งแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปโรงพยาบาล สามารถทำได้เองที่บ้านและทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวก ที่ฮ่องกงและแม็กซิโก ใช้วิธีนี้กว่าร้อยละ 60-80
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 30 ตุลาคม 2550 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบอนุมัติการขยายบริการการล้างไตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่อยู่ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยจะเริ่มให้บริการทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไปเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เหลือจ่ายจากการทำซีแอลยาต้านไวรัสเอดส์ 957 ล้านบาท ครอบคลุมผู้ป่วยไตวายจำนวน 3,978 ราย จากทั้งหมดที่มี 7,500 ราย
ปัจจุบันการรักษาทดแทนไตมีทั้งหมด 3 วิธี ได้แก่ 1.การปลุกถ่ายเปลี่ยนไตซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งจะมีไตที่ได้รับจากผู้บริจาคที่สามารถเข้ากับผู้ป่วยได้ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตเหมือนคนปกติ 2.การฟอกเลือดซึ่งจะต้องทำสัปดาห์ละ 2 3 ครั้งเสียค่าใช้จ่ายครั้งละ 2,000 3,000 บาท และ3.วิธีล้างไตผ่านทางช่องท้องผู้ป่วยสามารถทำได้เองที่บ้านวันละ 4 ครั้งไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของพยาบาล หรืออาสาสมัคร โดยที่ผู้ป่วยจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล 1- 2 เดือนต่อครั้ง หลังใส่น้ำยาเข้าช่องท้องแล้วยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ ที่เมืองฮ่องกงนิยมวิธีนี้ร้อยละ 70 80 ส่วนที่เม็กซิโกใช้ร้อยละ 60 โดยขณะนี้องค์เภสัชกรรมสามารถผลิตน้ำยาล้างไตทางช่องท้องได้แล้ว และเมื่อใช้กันมากๆ ราคาจะถูกลงอีกร้อยละ 30
นายแพทย์มงคล กล่าวว่า บริการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจะให้บริการล้างไตผ่านทางหน้าท้องอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งรายใหม่และรายเก่าฟรี โดยในระยะแรกนี้จะให้ดำเนินการตามความพร้อมของแต่ละจังหวัด ซึ่งมีจังหวัดที่สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 20 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลาเป็นต้น จะดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน 1 ปี สำหรับผู้ป่วยโรคไตวายที่ใช้วิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมาก่อนหน้านี้ซึ่งจ่ายเงินเองทั้งหมดและไม่สมัครใจที่จะล้างไตทางหน้าท้องรัฐจะให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย 1 ใน 3 ของค่าบริการ และผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่สมัครใจล้างไตทางช่องท้องและใช้วิธีฟอกเลือด จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551
จากการประเมินผลลัพธ์ที่จะได้ตามมาหลังจากที่ผู้ป่วยไตวายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยผู้ป่วยในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถทำรายได้ให้ครอบครัวและประเทศได้ในปี 2551 จำนวน 310 ล้านบาทและในปีที่ 5 คาดว่าจะมีผู้ป่วยไตวายเข้าสู่ระบบนี้จำนวน 49,688 คน ใช้งบประมาณ 9,202 ล้านบาท คาดจะทำรายได้ 3,876 ล้านบาท
นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันการเกิดโรคไตวายเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยไตวายที่กำลังรักษาตัวขณะนี้ทั่วประเทศประมาณ 20,000 ราย เกิดจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีผู้ป่วยประมาณ 10 ล้านคนจะต้องควบคุมอาการเพื่อไม่เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาและขณะเดียวกันต้องไม่ให้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น หากรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังใน 5 ปี คาดว่าจะลดผู้ป่วยไตวายรายใหม่ลงได้ร้อยละ 50
ตุลาคม ************************ 31 ตุลาคม 2550
View 14
31/10/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ