บทความสุขภาพ

พิมพ์

25 เมษายน เป็นวันมาลาเรียโลก


วันที่ 25 เมษายนของทุกปี เป็นวันมาลาเรียโลก 

หรือ World Malaria Day 
คำขวัญวันมาลาเรียโลกในปีนี้ องค์การอนามัยโลก 
กำหนดคำขวัญว่า
" End malaria for good "
================================

กำจัดมาลาเรียให้สิ้นจากถิ่นไทยประชาสุขใจปลอดภัยไร้โรคา


..... เนื่องในวันมาลาเรียโลกซึ่งตรงกับวันที่ 25 เมษายน ในปีนี้องค์การอนามัยโลก กำหนดคำขวัญว่า End malaria for good เพื่อกระตุ้นให้ประเทศที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้มาลาเรีย ซึ่งมีประชากรเสี่ยงประมาณ 3.2 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ร่วมมือกันกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไป

..... นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ป่วยทั่วโลก ปี 2558 ประมาณ 214 ล้านราย ซึ่งร้อยละ 89 อยู่ในประเทศแถบแอฟริกา และมีผู้ป่วยเสียชีวิตทั่วโลก 438,000 คน สำหรับประเทศไทยนั้นจำนวนผูป่วยลดลงร้อยละ 85 จาก 150,000 รายในปี 2543 เหลือเพียง 24,850 รายในปี 2558 เป็นผู้ป่วยคนไทยคิดเป็นร้อยละ 56.7 ผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 43.3 ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอพยพข้ามพรมแดน และมีการประกอบอาชีพที่ต้องพักค้างคืนในป่า สวนไร่ จังหวัดที่พบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ตาก อุบลราชธานี ยะลา กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นราธิวาส สงขลา สุราษฏร์ธานี และสุรินทร์ คิดเป็นร้อยละ 87.69 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ

......ประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคไข้มาลาเรียอย่างมาก โดยปัจจุบันพบอัตราป่วยเพียง 0.37 ต่อประชากรพันราย ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กระตุ้นให้ประเทศที่มีอัตราป่วยน้อยกว่า 1 ต่อประชากรพันราย ยกระดับนโยบายด้านมาลาเรียจากการควบคุมโรคเป็นการกำจัดโรคไข้มาลาเรีย นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนายุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรียขึ้นโดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐและภาคประชาสังคม ยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรียมีระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.256-2569) โดยกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียทั้งประเทศ และได้รับการรับรองเป็นเขตปลอดโรคไข้มาลาเรียจากองค์การอนามัยโลก ภายในปี 2569

......ซึ่งยุทธศาสตร์กำจัดโรคไข้มาลาเรีย ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลักเพื่อเร่งรัดการกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรีย ประกอบด้วย การพัฒนาระบบเฝ้าระวังให้ตอบโต้ได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพและความครอบคลุม การบริการตรวจรักษาในทุกกลุ่มประชากรเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ เฝ้าระวังควบคุม ยุงพาหะและส่งเสริมการป้องกันตนเองในกลุ่มเสี่ยงและสร้างระบบเร่งรัดกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อยา ส่วนยุทธศาสตร์ สนับสนุน ได้แก่ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมมาตรการและรูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเอง

 

......การดำเนินงานในพื้นที่เพื่อควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรีย มี 5 มาตรการหลักดังนี้

1. การจัดการในผู้ป่วยโดยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับบริการได้ที่มาลาเรียคลินิก ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนทั่วไปที่เป็นพื้นที่เสี่ยง

2. การให้มุ้งชุบสารเคมีครอบคลุมประชากรพื้นที่เสี่ยง เป็นมุ้งชุบสารเคมีไพรีทรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในระยะเวลาอันสั้น ไม่เป็นอันตรายต่อคน

3. การฉีดพ่นสารเคมีที่มีฤทธิ์ตกค้างเพื่อฆ่ายุงก้นปล่องตัวเต็มวัยในกลุ่มพื้นที่ระบาด

4. ระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยมาลาเรียในพื้นที่ ทั้งในส่วนที่ต้องคัดกรองและส่วนที่ค้นหาเพื่อรักษา

5. การให้การบริการเฝ้าระวังควบคุมโรคในประชากรกลุ่มเคลื่อนย้าย และแรงงานข้ามชาติ ส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดเน้นในการดำเนินงาน ครั้งนี้คือ บริเวณชายแดนที่มีป่า สวนป่า เป็นต้น

 

......การกำจัดโรคไข้มาลาเรียจะส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีโดยภาพรวม เป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ของประเทศจากที่มีนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 


.....โรคไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ยุงมีแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง จึงขอแนะนำประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อ
มาลาเรียหรือตามป่าเขา ขอให้ระมัดระวังตัวในกาป้องกันไม่ให้ยุงกัด ไม่ว่าการนอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือมุ้ง หรือมุ้งคลุมเปลการใช้ยากันยุง เป็นต้น โดยหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง
ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคไข้มาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติ
การเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็วเพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

 


ข้อมูล : กลุ่มประสานงานกำจัดโรคไข้มาลาเรีย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
02-590-3102 /3114 /3115


จากหน่วยงาน : สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง เปิดดู 2032 view
วันที่ประกาศข่าว : 25 เมษายน 2559 เวลา 16:13 น.