บทความสุขภาพ
ผลสำรวจ!!! คนไทย ร้อยละ 28 มีพฤติกรรมนิยมกินอาหารดิบ เสี่ยงโรคพยาธิ
จากผลการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพของกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 – 12 ระหว่างวันที่ 5 – 31 มีนาคม 2565 มีผู้ตอบแบบสำรวจ จำนวนทั้งสิ้น 113,847 คน อายุเฉลี่ยระหว่าง 25 - 26 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนนิยมกินอาหารดิบอย่างน้อย 1 อย่าง โดยเฉลี่ยร้อยละ 28 โดยแบ่งเป็นอาหารดิบแต่ละประเภท ดังนี้
- นิยมกินอาหารทะเลดิบ เช่น ตำกุ้งสด ปลาหมึกช็อต ปลาแซลมอนซาซิมิ ยำปูทะเล ร้อยละ 22.2
- นิยมกินสัตว์น้ำจืดดิบ เช่น ยำ/ตำ/ก้อย กุ้งฝอย ปลาดิบ ปูดิบ หอยดิบ ร้อยละ 10.9
- นิยมกินเนื้อวัวดิบ เช่น ก้อยเนื้อ ซอยจุ๊ ก้อยมะนาว ลาบเลือด ส้มวัว ร้อยละ 7.3
- นิยมกินเนื้อหมูดิบ เช่น ก้อยหมู หลู้หมู แหนมหมู ร้อยละ 5.9
อย่างไรก็ตามการกินอาหารดิบที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ไม่ผ่านความร้อน หรือใช้ความร้อนในระยะเวลาอันสั้น เช่น ยำปูสด ส้มตำหลากหลายรูปแบบ ลาบหมู ก้อยเนื้อ รวมถึงอาหารประเภทยำต่าง ๆ ที่มักจะรวนเนื้อสัตว์พอสุกเท่านั้น และเน้นรสชาติที่เผ็ดจัดหรือเปรี้ยวจัด อาจทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค เสี่ยงต่อการเป็นพยาธิใบไม้ในปอด โดยเฉพาะการกินปูดิบ ๆ เข้าไปมีโอกาสกินไข่ หรือ ตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปด้วย ซึ่งสามารถชอนไชเข้าไปในปอด ฟักตัว และมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน ส่งผลให้มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด และในบางรายอาจทำให้เสียชีวิตได้
ดังนั้นเพื่อป้องกันการเสี่ยงอันตรายต่อโรคต่าง ๆ ที่จะมาจากการกินอาหารดิบประเภทต่าง ๆ ประชาชนจึงควรหันมาสร้างพฤติกรรมการกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ผ่านความร้อนในระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดต้องปรุงสุกถึงข้างใน และก่อนนำวัตถุดิบต่าง ๆ มาปรุงประกอบอาหาร ควรล้างน้ำให้สะอาด เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมีตกค้างที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษและโรคพยาธิต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
แหล่งข้อมูล : กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
วันที่ : 7 เมษายน 2565
จากหน่วยงาน : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดดู 1727 view
วันที่ประกาศข่าว : 7 เมษายน 2565 เวลา 10:28 น.
ทวีต