บทความสุขภาพ

พิมพ์

เตือนผู้มีโรคประจำตัว เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงโควิด-19 หากมีอาการจะรุนแรงกว่าคนปกติ 5-7 เท่า


         การระบาดของโควิด-19 รอบนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาให้ข้อมูลว่าจะมีความรุนแรงกว่าและต่างจากรอบแรกด้วยหลายปัจจัยตั้งแต่จุดเริ่มต้นในที่อโคจร อาทิ สถานบันเทิง บ่อนการพนัน การกระทำผิดกฎหมายลักลอบเข้าเมือง ผู้คนไม่ยอมเปิดเผยตัว การสืบสวนต้นตอที่มาของโรคยาก ความรุนแรงของโรคจากการกลายพันธุ์ ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อพบมากขึ้นทุกวัน ซึ่งกลุ่มที่เสี่ยงต่อการมีอาการที่รุนแรงหากติดเชื้อโควิด-19 ประกอบด้วย

1. ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่าง ๆ จะเสื่อมตามกาลเวลา

2. คนที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง

3. คนที่มีน้ำหนักมาก มีความอ้วน

4. กลุ่มประชาชนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ ความดันโลหิตสูง

เบาหวาน ไต หัวใจ เส้นเลือดอุดตัน และ มะเร็ง มีความเสี่ยงโควิด-19 รุนแรงต่อโรคมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า

          โดยผู้ป่วยเบาหวานในไทยปัจจุบันมีถึง 4.8 ล้านคน ทั้งนี้ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงของ โควิดถึง 7 เท่า ขณะที่ของเด็กและเยาวชนมีปัญหาน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.1

 จากงานวิจัยพบว่า เมื่อโควิด-19 เข้าไปในร่างกาย ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่สัปดาห์ที่ 2 หรือวันที่ 8 หลังรับเชื้อ เพื่อยับยั้งหรือช่วยไม่ให้เกิดโรค ถ้าภูมิคุ้มกันปกติ 2-3 สัปดาห์แรก จะทำงานเต็มที่ จากนั้นค่อยๆ ลดลง จึงพบมีกลุ่มคนที่ได้รับเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ และหายได้เอง หากภูมิคุ้มกันไม่ปกติ เพราะมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยารักษาที่ไปกดภูมิคุ้มกัน เช่น เบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลเองไม่ได้ เป็นโรคหลอดเลือด เม็ดเลือดขาวไม่สามารถจัดการเชื้อโรคได้ คนกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงไม่เพียงปอดถูกทำลาย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิต เพราะไตวาย เลือดไม่ไปเลี้ยงแขนขา ความรุนแรงของเชื้อไปกระทบกับอวัยวะอื่นด้วย ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงเสี่ยงมากขึ้นอีก

ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและครอบครัวต้องช่วยกัน ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะกลายเป็นวิกฤต คือ

1. งดการพบกับบุคคลเสี่ยง

2. งดการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

3. งดร่วมกิจกรรมเสี่ยง

4. งดร่วมกิจกรรมในช่วงเวลาเสี่ยง

พฤติกรรมการในการป้องกันควบคุมโรคสำหรับประชาชน

D-M-H-T-T คือ เว้นระยะห่าง-สวมหน้ากากทุกครั้ง-ล้างมือบ่อยๆ-ตรวจเร็วควบคุมไว-ไปไหนสแกนไทยชนะ

 

แหล่งข้อมูล   : ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 

                     : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันที่                 :   21  มกราคม 2564



จากหน่วยงาน : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดดู 829 view
วันที่ประกาศข่าว : 22 มกราคม 2564 เวลา 10:04 น.