บทความสุขภาพ

พิมพ์

กรมวิชาการเกษตร แนะวิธีการป้องกันและกำจัด โรคแอนแทรคโนส ใน สตรอว์เบอร์รี


ในระยะนี้ยังจะมีฝนตกต่อเนื่อง แถมบางพื้นที่หมอกเริ่มลง สภาพอากาศมีความชื้นสูง เอื้อต่อการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รีเฝ้าระวังการระบาดของโรคแอนแทรคโนส สามารถพบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโต

อาการบนก้านใบและลำต้น มีแผลสีม่วงแดงขนาดเล็กขยายลุกลามไปตามความยาวของก้านใบและลำต้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบริเวณแผลแห้ง ทำให้เกิดรอยคอด หากอาการรุนแรง ต้นจะเหี่ยวและตายในที่สุด อาการบนผล พบแผลฉ่ำน้ำสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อรอบขอบแผลสีซีด แผลยุบตัวลง

หากอาการรุนแรง แผลจะขยายใหญ่จนทำให้ผลเน่า...ในสภาพที่มีอากาศชื้นอาจพบกลุ่มสปอร์สีส้มของเชื้อราสาเหตุโรคอยู่บริเวณแผล

อาการบนไหล จะมีแผลเล็กสีม่วงแดงขยายลุกลามไปตามความยาวของสายไหล ต่อมาแผลที่ขยายยาวจะเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล ทำให้เกิดรอยคอดของไหลบริเวณที่เป็นแผล

เมื่อย้ายต้นจากไหลที่มีการติดเชื้อมาปลูกหากสภาพอากาศเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อราสาเหตุโรค สตรอว์เบอร์รีจะแสดงอาการใบเฉา ต่อมาจะเหี่ยวอย่างรวดเร็ว และพบว่ากอด้านในจะเน่าแห้งสีน้ำตาลแดง หรือบางส่วนเป็นแผลขีดสีน้ำตาลแดง และต้นจะตายในที่สุด

การป้องกันกำจัด ต้องหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก

จากนั้นให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟลูโอไพแรม+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25%+25% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูโอไพแรม+ทีบูโคนาโซล 20%+20% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร...ฉีดพ่นทุก 5 วัน

ในส่วนของแปลงที่พบการระบาดของโรคหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตสตรอว์เบอร์รีแล้ว ให้เกษตรกรเก็บซากพืชนำไปทำลายนอกแปลงปลูก และก่อนจะปลูกใหม่ ควรเลือกใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งที่เชื่อได้ว่าปลอดโรคนี้จริง.

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ไทยรัฐ


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ เปิดดู 516 view
วันที่ประกาศข่าว : 21 ตุลาคม 2563 เวลา 12:12 น.