บทความสุขภาพ

พิมพ์

กรมการแพทย์ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำข้อเสนอให้ผู้ป่วยโรคลมชักขับขี่บนถนนได้อย่างปลอดภัย


กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจัดทำข้อเสนอให้ผู้ป่วยโรคลมชักที่ดูแลตนเองเป็นอย่างดีและสามารถคุมอาการชักโดยไม่ชักอย่างน้อย 1 ปีสามารถขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลได้ และอย่างน้อย 10 ปี ในการขับขี่รถยนต์สาธารณะ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคลมชักและเพื่อนร่วมทางขับขี่บนท้องถนนได้อย่างปลอดภัย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับการมีกฎหมายเพื่อการควบคุมการขับขี่รถยนต์บนท้องถนน ผู้ขับขี่ต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หากมีโรคประจำตัว อาทิ โรคลมชักต้องสามารถควบคุมอาการได้ เพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน หลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับการมีกฎหมายเพื่อการควบคุมการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคลมชัก เพื่อความปลอดภัยในท้องถนนทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมทาง ดังนั้น กรมการแพทย์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศโรคลมชัก สถาบันประสาทวิทยา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคลมชัก และสิทธิของผู้ป่วยโรคลมชักที่ควรจะได้ขับขี่รถยนต์อย่างปลอดภัย จึงได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ กรมขนส่งทางบก กรมควบคุมโรค แพทยสภา มูลนิธิถนนปลอดภัย ชมรมโรคลมชักเพื่อประชาชน เป็นต้น เพื่อให้ได้ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำนโยบายนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายในการควบคุมการขับขี่รถยนต์อย่างปลอดภัยของผู้ป่วยโรคลมชัก โดยเสนอให้ผู้ป่วยโรคลมชักที่ดูแลตนเองเป็นอย่างดีและสามารถคุมอาการชักโดยไม่ชักอย่างน้อย 1 ปีสามารถขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลได้ และอย่างน้อย 10 ปี ในการขับขี่รถยนต์สาธารณะ
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า โรคลมชักเป็นภาวะที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่บนท้องถนนหากมีอาการชักขณะกำลังขับขี่ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีข่าวเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถในผู้ป่วยโรคลมชักอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยโรคลมชักมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.8 เท่า สำหรับประเทศไทยมีความชุกโรคลมชักประมาณ 7.2 ต่อประชากร 1,000 คน (ประมาณ 500,0000) คน ประมาณอุบัติการณ์อุบัติเหตุของผู้ป่วยโรคลมชักจากการขับขี่รถ 361 คนต่อ 100,000 ประชากรผู้ป่วยโรคลมชักในประเทศไทย จากการศึกษาในประเทศไทยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและสถาบันประสาทวิทยา พบว่า 75-90% ของผู้ป่วยโรคลมชักยังคงขับรถอยู่ ประมาณ 30% เคยเกิดอาการชักขณะขับรถและเกิดอุบัติเหตุ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะทำให้เกิดอาการชัก คือ การขาดหรือลืมกินยากันชัก อีกปัจจัยสำคัญที่จะลดความเสี่ยงที่จะชักซ้ำ คือ ระยะเวลาที่หยุดชัก ระยะเวลาที่หยุดชักยิ่งนานจะยิ่งลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้ ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุลดลงไป 85% ในผู้ป่วยที่หยุดชักนานมากกว่า 6 เดือน และ ลดลงไปถึง 93% ในผู้ป่วยที่หยุดชักนานมากกว่า 1 ปี สำหรับการดูแลรักษาตนเองให้หยุดชักอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การกินยากันชักอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงภาวะที่อาจจะกระตุ้นชัก เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ นอนดึก การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การได้มีสิทธิ์ที่ได้ขับขี่รถเหมือนคนทั่วไปอย่างปลอดภัย
***************************************************
21 กันยายน 2563
 
ในภาพอาจจะมี สถานที่กลางแจ้ง
** ภาพใช้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้น **


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ เปิดดู 412 view
วันที่ประกาศข่าว : 21 กันยายน 2563 เวลา 14:26 น.