บทความสุขภาพ

พิมพ์

ที่มาของชื่อ “โรคเท้าช้าง” ในประเทศไทย


โรคเท้าช้าง หรือที่เรียกว่า “ฟิลาเรีย” (Filaria) เป็นโรคติดต่อที่เก่าแก่มากโรคหนึ่ง เชื่อว่าเกิดขึ้นมากกว่า 2-3 พันปี
ก่อนคริสกาล โดยสันนิษฐานจากภาพที่สุสานในประเทศอียิปต์ คำว่า “ฟิลาเรีย” แปลว่า พยาธิเส้นด้าย

ในประเทศไทยโรคฟิลาเรีย รู้จักกันในชื่อ “โรคเท้าช้าง” จากคำบอกเล่าของนายแพทย์ฉันทกรณ์ ชุติดำรง 
อดีตผู้อำนวยการกองโรคเท้าช้าง คนที่ 4
ได้เล่าที่มาของคำว่า “โรคเท้าช้าง” ให้นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ซึ่งขณะนั้น นายแพทย์สุวิช เพิ่งเข้ารับราชการ
(ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา) ว่า ในปี พ.ศ. 2492 จอมพล ป.พิบูลสงคราม
เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านมาตรวจราชการภาคใต้ ระหว่างเติมน้ำ เติมไม้ฟืนรถไฟ ที่สถานีชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเห็นแม่ค้าอ้อยควั่นขาโตมาก จึงถามกรมการเมืองที่มาต้อนรับว่า “เขาเป็นอะไร” กรมการเมืองนึกไม่ทัน จึงตอบไปว่า “โรคเท้าช้างขอรับ”
จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคเท้าช้าง” นับแต่นั้นมา

เพื่อมิให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศ จอมพล ป.พิบูลสงครามจึงสั่งการให้กรมการสาธารณสุข (ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย) สำรวจว่ามีใครขาโตบ้าง ซึ่งพบมากในแถบภาคใต้ จึงได้ประสานกับองค์การอนามัยโลกดำเนินการสำรวจโรคเท้าช้างแบบสากล ใน 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง ตรัง ระนอง ยะลา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี นับว่าเป็นการสำรวจโรคเท้าช้างครั้งแรกในประเทศไทย พบผู้ป่วยที่มีเชื้อ Brugia malayi มากถึง 2,712 ราย

ปัจจุบัน ปัญหาโรคเท้าช้างลดลงมาก จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุข แต่ยังคงพบได้บ้างในเขตจังหวัดชายแดนใต้ องค์การอนามัยโลกได้ยกย่องประเทศไทยว่าดำเนินการควบคุมโรคเท้าช้างได้สำเร็จดีมาก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ตั้งเป้าหมายที่จะกวาดล้างโรคเท้าช้างให้หมดไปจากประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2563

 

เจาะเลือดหาพยาธิโรคเท้าช้างในเวลากลางคืน

 

 

ให้ความรู้โรคเท้าช้างแก่เด็กนักเรียนและประชาชน

-------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยจัดการความรู้และมาตรฐานการควบคุมโรค

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ เปิดดู 1153 view
วันที่ประกาศข่าว : 11 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13:05 น.