บทความสุขภาพ

พิมพ์

อึ้ง! คนไทยตรวจสุขภาพแค่ปีละ 2% แถมตรวจมากเกินจำเป็นอีกเพียบ!


      "การตรวจสุขภาพ" เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนทุกเพศและทุกวัย แต่คนไทยทั้งประเทศที่เข้ารับการตรวจสุขภาพ ในแต่ละปีมีเพียงแค่ 2% เท่านั้น และซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีความเข้าใจผิดๆ ว่าการตรวจสุขภาพ มีไว้เพื่อค้นหาโรคร้ายและอาการที่ไม่ปกติ"       ทั้งที่ตามความจริงแล้ว เป้าหมายของการตรวจสุขภาพคือ เป็นการตรวจเพื่อส่งเสริมสุขภาพในบุคคลปกติ เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงหรือภาวะผิดปกติ พูดง่ายๆ ว่า ใช้เป็นตัวช่วยในการวางแผนป้องกันและรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ในกรณีที่ตรวจพบโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย        เหนืออื่นใด เมื่อเข้าใจผิดว่าตรวจเพื่อค้นหาโรค ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจคาดหวังว่าตนจะได้รับการตรวจอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะเลือด ตรวจแล็บ เอกซเรย์ปอด ตรวจระดับสารบ่งชี้มะเร็ง ตรวจกรดยูริดในเลือด ตรวจเอนไซม์ตับ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัลตราซาวด์ช่องท้อง ฯลฯ          ทั้งๆ ที่แต่ละรายการ ล้วนแล้วแต่เป็นการตรวจแบบเหวี่ยงแหเกินความจำเป็นทั้งสิ้น อีกทั้งยังทำให้เจ็บตัว เสียทรัพย์ เสียเวลา เกิดความเครียดและความวิตกกังวลจนเกิดเหตุ มิหนำซ้ำในหลายรายการตรวจยังเสี่ยงต่อการพบผลบวกลวงที่ทำให้ต้องโดนชวนให้ตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมหนักเข้าไปอีก

          คำถามสำคัญก็คือ แล้วตรวจสุขภาพอย่างไร ถึงจะไม่เรียกว่า "ตรวจมากเกินความจำเป็น"?
 
         มาเริ่มกันที่กลุ่มคนวัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของการมีปัญหาสุขภาพจึงเป็นวัยที่ต้องเข้ารับบริการตรวจสุขภาพอย่างจริงจัง โดยการตรวจสุขภาพคนวัยทำงาน ควรเป็นการตรวจเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน โดยเฉพาะเกิดในชายอายุน้อยกว่า 55 ปี และหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี หรือมีสมาชิกหลายคนในครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว          นอกจากนี้ ควรมีการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง ประเมินว่าเป็นโรคอ้วนหรือไม่ วัดความดันโลหิต เพื่อตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง ตรวจฟังเสียงหัวใจผิดปกติ ตับ ม้ามโต ภาวะบวม ตรวจสุขภาพช่องปาก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตรวจการได้ยิน ปีละ 1 ครั้ง ตรวจตา ปีละ 1 ครั้ง    ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี ควรได้รับการตรวจเต้านมทุกๆ 3 ปี อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปีผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองด้วย Pap s smear ทุก 3 ปี หรือวิธีป้ายหาความผิดปกติโดยใช้กรดอะซิติก (VIA) ทุก 5 ปี
 
          ทีนี้ก็มาถึงการตรวจสุขภาพสำหรับเด็ก ความจำเป็นอันดับแรกที่ต้องเช็ก คือ "ภาวะโลหิตจากการขาดธาตุเหล็ก" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "โรซีด" ซึ่งเด็กทุกคนมีโอกาสเป็นได้ โดยสถิติพบว่าในเด็กไทย 100 คน จะตรวจพบโรคโลหิตจางสูงถึง 30 คน       ผลกระทบที่จะเกิดจากการเป็นโรคซีดก็คือ เด็กจะอ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย เวียนศรีษะ พัฒนาการล่าช้า จิตใจและพฤติกรรมเซื่องซึม ไม่อยากอาหาร ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย มีปัญหาด้านการเจริญเติบโต มีปัญหาด้านการเรียน ขาดความสนใจและสมาธิในการเรียน สติปัญญาด้อยลง ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ ผลการเรียนแย่ลง         
 
       ดังนั้น เด็กๆ จึงได้รับการเจาะเลือดตรวจเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือก 2 ครั้ง ในเพศชายและหญิง ครั้งที่1 ช่วงอายุ 6-9 เดือน, ครั้งที่ 2 ช่วงอายุ 3-6 ปี ส่วนครั้งที่ 3 ตรวจเฉพาะเพศหญิง ช่วงอายุ 11-18 ปี     นอกจากนี้ สำหรับเด็กๆ ยังมีอีกสิ่งที่ "จำเป็น" ต้องตรวจ นั่นก็คือ "การได้ยิน" ซึ่งจากสถิติ พบว่า ในจำนวนเด็กแรกเกิดทุกๆ 1 พันคน มีเด็กที่ถูกตรวจพบว่ามีความบกพร่องทางการได้ยินประมาณ 1 ถึง 3 คน ซึ่งอาจส่งผลให้หูพิการได้         โดยทั่วไป การตรวจ "การได้ยิน" นั้น สามารถที่จะตรวจได้ทันทีภายใน 15 นาทีนับจากแรกเกิด เพราะยิ่งตรวจพบเร็วเท่าไหร่ จะทำให้เด็กได้รับการรักษาและฟื้นฟูการได้ยินอย่างเหมาะสม ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการและความสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป
 
          และสุดท้าย กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดอีกกลุ่มก็คือ"ผู้สูงอายุ"ซึ่งมีความเสี่ยงมากต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยที่ข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 จำนวน 2 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวาน จะเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป      การตรวจคัดกรองเบาหวานนั้น ทำได้ง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายหากไปรับบริการตามสถานบริการแพทย์ของรัฐ และไม่จำเป็นต้องรอตรวจตอนที่อายุมาก เพราะสามารถมาตรวจได้ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาโรคเบาหวานทุก 3 ปี        ขณะที่โรคความดันโลหิตสูง ก็ควรตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละครั้ง ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดและความคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งตนเองด้านสุขภาพได้อย่างเป็นสุข ลดการใช้ยา ลดค่าใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว
 
          จะเห็นใช่ไหมว่า แต่ละวัยก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ และถ้าไม่มีความผิดปกติรุนแรงอะไร ก็ตรวจเท่าท่แนะนำว่าจำเป้น ไม่เสียทั้งทรัพย์และเวลาโดยใช่เหตุ และที่ดีไปกว่านั้น สปสช. หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีการรองรับการตรวจสุขภาพฟรี ผ่านโครงการประกันสังคมสำหรับผู้ทำงานประจำ รวมไปจนถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่เอื้ออำนวยต่อกลุ่มอาชีพนอกระบบ ซึ่งทั้งหมด สามารถติดต่อและเข้ารับการตรวจฟรีที่สถานพยาบาลใกล้บ้านที่ท่านสะดวก
 
          ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          เช็กรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะกับคุณ คลิก
          www.healthcheckup.in.th-


จากหน่วยงาน : ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 องศา(17กพ.61) เปิดดู 3877 view
วันที่ประกาศข่าว : 20 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 14:27 น.