บทความสุขภาพ

พิมพ์

แนะกินแคลเซียมให้พอดี


 

     ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2560 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย (สกว.) หน่วยวิจัยด้านแคลเซียม และกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคแคลเซียม ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่มีประสิทธิภาพการดูดซึมสูง

     ศ.ดร.นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ เมธีวิจัยอาวุโส เปิดเผยว่า แม้ร่างกายจะต้องการแคลเซียมเพียงเล็กน้อยวันละ 800 มิลลิกรัมสำหรับผู้ใหญ่ แต่ก็เป็นแร่ธาตุ ที่มีความสำคัญต่อร่างกายทุกระบบ แคลเซียมกว่าร้อยละ 99 เก็บสะสมภายในกระดูกทั่วร่างกาย จึงใช้ "ความหนาแน่นของกระดูก" เป็นตัวชี้วัด รวมถึงการคาดการณ์ถึงความแข็งแรงและความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก โดย มีตัวแปรที่ขึ้นอยู่กับอายุและตำแหน่งของกระดูก

     กระดูกจะมีความหนาแน่นสูงสุดที่อายุประมาณ 30 ปี และจะค่อนข้างคงที่อีก ประมาณ 15-20 ปี จากนั้นจะเริ่มลดลงโดยเฉพาะในผู้หญิงที่ขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนหลังหมดประจำเดือน กระดูกจะเริ่มสูญเสียแคลเซียมอย่างรวดเร็วจนเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหักได้

     ปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงวัยกระดูกพรุน ทั้งจากอายุที่มากขึ้น โรคในผู้สูงอายุทั้งความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันสูงในเลือด อ้วน และโรคทางเมแทบอลิซึม เป็นต้น

     เมธีวิจัยอาวุโส สกว.ระบุว่า เราควรรับประทานแคลเซียมเสริมหรือยาเม็ดแคลเซียมเมื่อมีข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า ร่างกายขาดแคลเซียม ส่วนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่สูงอายุควรรับประทานแคลเซียมตามที่สำนักโภชนาการ กรมอนามัย แนะนำ โดยปรับอาหารให้มีแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม การเสริมแคลเซียมมากเกินแทบจะไม่ได้ประโยชน์ แต่เนื่องจากคนไทยทั่วไปรับประทานแคลเซียมไม่ถึงปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน การพัฒนาอาหารเสริมแคลเซียมหรือผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่ดูดซึมได้ดีจึงยังมีความจำเป็น เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมเสริม

     "ผลการวิจัยยืนยันว่าเซลล์ของลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้จำกัด คือ ดูดซึมได้ประมาณร้อยละ 15-20 ของปริมาณที่รับประทาน หากต้องการให้อัตราการดูดซึมสูงขึ้น เซลล์ต้องได้รับการกระตุ้น ด้วยฮอร์โมน เช่น วิตามินดี โพรแลคติน (ในระหว่างให้นมบุตร) หรือเอสโตรเจน แต่การให้ฮอร์โมนเสริมไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัย จึงต้องมีการวิจัยเพื่อเติมองค์ประกอบบางอย่างลงในผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ลำไส้ทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น"

     ผู้ที่รับประทานแคลเซียมเกินกว่าปริมาณที่แนะนำ โอกาสเกิดโทษจากแคลเซียมเกินขนาดก็ยังไม่สูงมากนัก (เว้นแต่รับประทานสูงกว่าปกติ 2-3 เท่าขึ้นไป) เช่น อาจเพิ่มโอกาสที่ทำให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือโรคทางสมองบางชนิดได้ ทั้งนี้ในร่างกายมีกลไกระดับเซลล์และการใช้ฮอร์โมนในการควบคุมอัตราการดูดซึมแคลเซียม จากอาหารเข้าสู่ร่างกาย หากดูดซึมมากเกินไปเซลล์ของลำไส้จะมีการสร้างสารเคมี "ไฟ โบรบลาสต์โกรทแฟคเตอร์-23" เพื่อยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม เป็นต้น


จากหน่วยงาน : น.ส.พ.เดลินิวส์ 30 สิงหาคม 2560 เปิดดู 1456 view
วันที่ประกาศข่าว : 30 สิงหาคม 2560 เวลา 15:42 น.