ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

“สาธิต” เปิดประชุมวิชาการนักบริหาร สธ. ผลักดันใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนางาน ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวก รวดเร็ว


          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุข ปี 2566 เน้นขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ ทั้งการกระจายอำนาจ การสร้างพันธมิตรในการทำงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล เทคโนโลยีและการลงทุน และการพัฒนาระบบดิจิทัลสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด

          วันนี้ (18 มกราคม 2566) ที่ โรงแรม แกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสมาคมนักบริหารสาธารณสุข ปี 2566 “Health Tech for Smart Living นวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพเพื่อชีวิตดีดี” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์ สามารถนำไปพัฒนางานสาธารณสุขของประเทศไทยให้มีศักยภาพ รองรับสถานการณ์ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว ลดความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัด พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การบริหารกำลังคนสุขภาพ” โดยมี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขและนายกสมาคมนักบริหารสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวนกว่า 600 คน เข้าร่วมประชุม

          ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำและลดระยะเวลารอคอย ซึ่งนักบริหารการสาธารณสุขจะเป็นผู้ที่ผลักดันทั้งการบริหารและการบริการให้เกิดประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยมีประเด็นขับเคลื่อนที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การกระจายอำนาจ ให้สำนักงานเขตสุขภาพ เกิดความคล่องตัวในการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ซึ่งปีที่ผ่านมีการนำร่องใน 4 เขตสุขภาพ ประสบความสำเร็จอย่างดี ในปีนี้จึงขยายผลให้ครบทั้ง 12 เขตสุขภาพ และการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนได้ตรงจุด ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง และเท่าเทียม

          2. การประสานความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การสร้างความร่วมมือเชิงบูรณาการ โดยการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูล 2) การสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยี เพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และ3) การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน เช่น การร่วมทุนในรูปแบบ PPP ในการสร้างโรงพยาบาลปลวกแดง 2 เพื่อลดการเดินทางของผู้ป่วยในพื้นที่ ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม สะดวก รวดเร็ว เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และ 3.ระบบดิจิทัลสุขภาพ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำกรอบการพัฒนาใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1) การพัฒนา AI และ IoMT ในการดูแลสุขภาพประชาชน 2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อการประมวลผล การวิเคราะห์ และการทำนาย/การพยากรณ์โรคมากยิ่งขึ้น 3) การประยุกต์ใช้ระบบ Cloud เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างไร้รอยต่อ และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ 4) Digital Health Platform โดยพัฒนาและใช้ระบบ Telemedicine ในการดูแลรักษาผู้ป่วย การใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นในการดูแลสุขภาพประชาชน เช่น ระบบหมอพร้อม 5) การพัฒนาข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Medical Record) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้ และมีความปลอดภัย

          “ปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อนงานสาธารณสุข คือ ผู้นำ จะต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยี สามารถเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ พร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า หากผิดพลาด ต้องพยายามหาวิธีการที่จะพัฒนาต่อไป พร้อมเรียนรู้ทำความเข้าใจผู้อื่น มีทักษะการสื่อสาร ส่งเสริมให้กำลังใจทีม รวมถึงต้องใส่ใจสุขภาพทั้งของตนเองและคนในทีม เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข” ดร.สาธิตกล่าว

 ******************************* 18 มกราคม 2566

****************************************


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 1238 view
วันที่ประกาศข่าว : 18 มกราคม 2566 เวลา 11:38 น.