ข่าวเพื่อมวลชน

พิมพ์

รมช.สธ.ตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายการจัดการอวัยวะหลังเสียชีวิต


          กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการเตรียมออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารอวัยวะหลังเสียชีวิตคาดจะมีผู้บริจาคถึงร้อยละ 70 ช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น

          วันนี้ (3 ตุลาคม 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การปลูกถ่ายอวัยวะ เนื้อเยื่อ และดวงตา เป็นการรักษาที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ลดความพิการ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด แต่ยังมีปัญหาในการเข้าถึงการปลูกถ่าย ซึ่งมีผู้รอปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตาเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีผู้รอรับอวัยวะ 6,245 ราย และ  ผู้รอรับดวงตา 12,964 ราย ขณะที่สามารถปลูกถ่ายอวัยวะได้ปีละ 500 – 700 ราย ปลูกถ่ายกระจกตาได้เพียงปีละ 700 - 800 ราย และผู้ป่วยรอปลูกถ่ายไตไม่ต่ำว่า 3 ปี

          ดังนั้น เพื่อให้มีผู้บริจาคอวัยวะเพิ่มมากขึ้น ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการบริหารจัดการอวัยวะหลังเสียชีวิต ซึ่งคณะทำงานนี้ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี ผู้ชำนาญงานด้านกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อศึกษาถึงแนวทางใหม่ของการบริจาคอวัยวะโดยในช่วงแรกจะใช้แนวทางให้ประชาชนต้องตัดสินใจว่าอยากจะให้อวัยวะหรือไม่ เมื่อไปทำธุรกรรมเอกสาร เช่น ต่อบัตรประชาชน ใบขับขี่ เป็นต้น และเมื่อมีความพร้อมมากขึ้นจะปรับระบบให้ทุกคนมีตัวเลือกตั้งต้นว่าเป็นผู้บริจาคอวัยวะ กรณีที่เลือกไม่อยากเป็น สามารถออกจากการเป็นผู้ให้อวัยวะได้ทุกเมื่อ

          “สำหรับตัวร่างกฎหมายดังกล่าวเบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งหากกฎหมายผ่านและมีการนำไปใช้คาดในระยะแรกจะมีผู้บริจาคอวัยวะเพิ่มร้อยละ 30 และเมื่อปรับเป็นการเปลี่ยนตัวเลือกตั้งต้นจะมีผู้บริจาคถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น”นายแพทย์คณวัฒน์ กล่าว

 ***************************************  3 ตุลาคม 2562

 

******************************


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 1122 view
วันที่ประกาศข่าว : 3 ตุลาคม 2562 เวลา 17:16 น.