ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

อย. เตือนอย่าใช้เซรั่มเถื่อน อ้างลดเลือนริ้วรอยทันทีหลังใช้ เสี่ยงหน้าพัง


อย. เตือนอย่าใช้เซรั่มเถื่อน อ้างช่วยลดเลือนริ้วรอยบนใบหน้าได้ทันทีหลังใช้ รีวิวทาง Tik Tok อาจลักลอบใส่สารห้ามใช้ อันตรายเสี่ยงหน้าพัง

เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอทางสื่อออนไลน์สาธิตวิธีใช้เซรั่มที่ทาเพียงหยดเดียวตีนกาหายวับ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเรียนว่า จากคลิปวิดีโอไม่ปรากฏฉลากภาษาไทย ตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่าอาจเป็นผลิตภัณฑ์ชื่อ Brolamen ไม่พบการจดแจ้งในฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และมีข้อสังเกตจากคลิปดังกล่าวว่า ผู้ใช้เครื่องสำอางในคลิปมีการหยีตาขณะทาเซรั่ม จึงมีรอยย่นที่หางตา แต่เมื่อทาเซรั่มเสร็จก็ไม่หยีตา จึงไม่เห็นรอยย่น ดังนั้น การที่รอยย่นหายไปน่าจะเกิดจากการขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้า

การโฆษณาเครื่องสำอางในลักษณะดังกล่าว มีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยภาพว่าใช้ผลิตภัณฑ์นี้ลดริ้วรอยได้ทันที ซึ่งเป็นเท็จหรือเกินความจริงและทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าของบัญชีที่เผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวอยู่ต่างประเทศ โดย อย. จะตรวจสอบ เฝ้าระวังการโฆษณาและดำเนินคดีผู้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง

รองเลขาธิการ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อ เลือกใช้ ผลิตภัณฑ์สุขภาพจากแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าได้หลงเชื่อโฆษณาที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ก่อนซื้อให้ตรวจสอบว่า ผลิตภัณฑ์ผ่านการจดแจ้งจาก อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ”, Facebook: FDAThai, Line@FDAThai และผลิตภัณฑ์ต้องแสดงฉลากเป็นภาษาไทย ระบุข้อความจำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อเครื่องสำอางและชื่อทางการค้า ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง ชื่อของสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ คำเตือน และเลขที่ใบรับจดแจ้ง หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงหรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.thหรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

******************************************

วันที่เผยแพร่ข่าว  24  พฤศจิกายน 2566  / ข่าวแจก  26  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567



จากหน่วยงาน : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดดู 537 view
วันที่ประกาศข่าว : 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 07:37 น.