ข่าวในรั้ว สธ.

พิมพ์

กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก และเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อในประเทศอย่างใกล้ชิด เผยโรคติดต่อมีความรุนแรงน้อย หายเองได้ และอัตราป่วยตายต่ำ


          กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์โรคฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิด มีรายงานผู้ป่วยทั่วโลก จำนวน 6,178 ราย ซึ่งโรคติดต่อดังกล่าวมีความรุนแรงน้อย หายเองได้ อัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 3-6 กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมรับมือโรคฝีดาษวานร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจเชื้อได้ในทันที รวมทั้งยังมีเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการระดับประเทศพร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้ออีกด้วย ในปัจจุบันสามารถใช้วิธี RT-PCR และการถอดรหัสสารพันธุกรรม ย้ำขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย

          วันนี้ (6 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลกขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 65) จำนวนผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 6,178 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 56 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 1,196 ราย  อังกฤษ 1,185 ราย  เยอรมัน 1,054 ราย  ฝรั่งเศส 498 ราย และสหรัฐอเมริกา 459 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเพศชายเกือบทั้งหมดมากกว่า 99% สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ได้มีระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่รับรักษาในโรงพยาบาลและคลินิกเฉพาะ ซึ่งจากการเฝ้าระวังยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยันในประเทศไทย แต่มีรายงานผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เป็นผู้ป่วยสงสัย 13 ราย ผู้สัมผัส 3 ราย โดยผู้สัมผัสทั้ง 3 ราย ครบกำหนดการติดตามแล้วไม่มีอาการ ส่วนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผู้ป่วยสงสัยทั้ง 13 ราย ไม่พบเชื้อฝีดาษวานร แต่เป็นการพบเชื้อไวรัสเริม (Herpes Simplex Virus) ซึ่งติดมาจากการสัมผัส และใช้สิ่งของร่วมกัน

          โรคฝีดาษวานรที่แพร่ระบาดอยู่ในแถบทวีปยุโรปในขณะนี้นั้น มีความรุนแรงน้อย มีเพียงร้อยละ 10 ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดต่อจากคนสู่คน โดยการใกล้ชิดกับผู้ป่วยและสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา จะมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้

          นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าประเทศไทยยังไม่พบผู้ติดเชื้อยืนยัน แต่อาจมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อได้ในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จึงขอเน้นย้ำการป้องกันโรคฝีดาษวานร ดังนี้ 1) หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน เช่น สนามมวย โรงยิม สถานที่ออกกำลังกาย ตลาด ห้างสรรพสินค้า และขอให้มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วม เช่น กระสอบทรายซ้อมมวยในโรงยิม 2) เน้นย้ำการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ 3) หากผู้ที่มีอาการสงสัย สามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจเชื้อโดยวิธีการ RT-PCR ได้ทันที และในการรตรวจวินิจฉัยเชื้อทำได้โดยการเก็บตัวอย่าง ทั้งการสะกิดแผล เลือด ป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอ และนำมาถอดรหัสสารพันธุกรรม ซึ่งผลตรวจจะออกภายใน 24 ชั่วโมง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

********************************

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565


จากหน่วยงาน : กรมควบคุมโรค เปิดดู 439 view
วันที่ประกาศข่าว : 6 กรกฎาคม 2565 เวลา 10:39 น.