ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า วางมาตรการควบคุมราคายา การบริโภคยา และระบบการสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค 

                นายกรัฐมนตรีประชุมเชิงนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ผลสรุปคืบหน้า พร้อมประกาศดีเดย์เริ่มบริการร่วมดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวกันในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วไทยทั้งรัฐและเอกชน ไม่มีการทวงถามสิทธิ์ ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า โดยจะให้บริการจนผู้ป่วยอาการทุเลากลับบ้านได้ และวางมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยา การสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค
บ่ายวันนี้ (13 มีนาคม 2555) ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมเรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ได้แก่กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย  นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายแพทย์ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ และคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงแรงงาน เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือ สปส. อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณผู้แทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือ สสส.
 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ติดตาม 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ติดตามความพร้อมการบูรณาการดูแลร่วมผู้ป่วยฉุกเฉินภายใต้มาตรฐานเดียวกันของ 3 กองทุนฯ โดยไม่มีการถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า 2.มาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาว และ3.มาตรการสร้างเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรค
  
สำหรับความคืบหน้าของการเตรียมความพร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุนสุขภาพ นายกรัฐมนตรีให้ทั้ง 3 หน่วยงานจัดเตรียมแผนปฏิบัติการ แก้ไขระเบียบของแต่ละกองทุนเพื่อให้เกิดเอกภาพและคล่องตัว ไม่ส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้บริหารโรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2555 โดยในการให้บริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน จะดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการทุเลาและกลับบ้านได้ หรือส่งต่อผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลที่อยู่ในระบบ ไม่ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุด 72 ชั่วโมงเหมือนที่ผ่านมา โดยสปสช.จะเป็นศูนย์กลางติดตามการเบิกจ่ายค่าบริการ และได้จัดเตรียมสายด่วน 1330 พร้อมให้บริการให้ข้อมูลแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท กระทรวงสาธารณสุขจะใช้กลไกสายด่วนกู้ชีพ 1669 มาร่วมบริการด้วย 
  
ส่วนมาตรการควบคุมราคายาและการบริโภคยาระยะยาวนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ 3 กองทุน จัดทำมาตรการเพื่อควบคุมราคายา และการบริโภคยา เช่น การรวมซื้อยาที่ส่วนกลาง หรือการต่อรองราคายา และส่งเสริมการสั่งยาโดยการใช้ชื่อสามัญทางยา เป็นต้น
สำหรับนโยบายการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ได้ให้ 3 กองทุนสุขภาพ และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพหรือสสส. บูรณาการ ร่วมกันเสนอประเด็นลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ และลดการเจ็บป่วย ซึ่งจะมีผลในการลดความจำเป็นในการเข้าสู่บริการบำบัดรักษาใน 5 เรื่องสำคัญในเบื้องต้นให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2.พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในระดับตำบล เพิ่มพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด
3.พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกสูบบุหรี่ ผลสำรวจล่าสุดคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน 4.พัฒนาระบบการให้บริการเพื่อช่วยเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งข้อมูลในปี 2551 พบว่าประชาชนวัย 15-59 ปี เข้าข่ายมีความผิดปกติจากการดื่มสุรามากถึง 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีปัญหาติดสุราอย่างน้อย 3 ล้านคน   และ5.การดูแลผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิต เผชิญความตายอย่างสงบ ปราศจากความเจ็บปวด แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิต 4.5-5 แสนคน สาเหตุการตายอันดับ 1 คือมะเร็ง รองลงมาคืออุบัติเหตุ โรคหัวใจ โดยการตายที่โรงพยาบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.2 ในปี 2532 เป็นร้อยละ 39.3 ในปี 2548 และพบว่าครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,763 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก 3 เดือนก่อนตายและ15,767 บาทสำหรับผู้ป่วยใน 6 เดือนก่อนตาย ในขณะที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรคทั่วๆไปเฉลี่ย 64,106 บาทต่อคนต่อปี แต่ในผู้ป่วยโรคมะเร็งค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 80,780 บาทต่อคนต่อปี

************************************* 13 มีนาคม 2555



   
   


View 12    13/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ