รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผยพบคนไทยเป็นเบาหวานแล้วกว่า 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีภาวะแทรกซ้อนกว่า 2.7 แสนคน แนะดูแลตนเองให้มากขึ้นช่วงน้ำท่วม พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้ปรับรูปแบบการบริการให้เข้าถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานมากขึ้นด้วย ด้านแพทย์แนะเตรียมยาให้เพียงพออย่างน้อย 1 2 เดือน พกน้ำตาล น้ำหวาน หรือลูกอมติดตัวตลอดเวลา หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

          วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2554) นายวิทยา บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวานแล้วกว่า 300 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำ สำหรับประเทศไทยจากการคัดกรองประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป พ.ศ.2554 พบผู้ป่วยโรคเบาหวาน 1,581,857 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน 277,020 ราย คิดเป็นร้อยละ 18 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด ซึ่งในจำนวนผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนพบผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนที่ไตร้อยละ 25 รองลงมาพบภาวะแทรกซ้อนที่ตา ร้อยละ 23 นอกจากนี้ยังพบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า

ดังนั้นองค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่  14 พฤศจิกายน  ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโรค (World Diabetes Day)   ซึ่งได้กำหนด ประเด็นการรณรงค์วันเบาหวานโลกในตลอด 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2556  ว่าการให้ความรู้และการป้องกันโรคเบาหวาน  (Diabetes Education and Prevention)  โดยในปี 2554 นี้ ได้กำหนด คำขวัญที่ใช้ในการรณรงค์  คือ รวมพลัง  ลดเสี่ยง  เลี่ยงเบาหวาน   เพื่อสร้างกระแสตื่นตัวให้ประชาชนทั่วไปรวมถึงประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ตระหนักถึงภัยคุกคามจากโรคเบาหวาน ให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาทีและงดบุหรี่ แอลกอฮอล์

นายวิทยา กล่าวต่อว่า เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบภาวะอุทกภัยในหลายจังหวัด ดังนั้นจึงได้กำหนดประเด็นการรณรงค์เพื่อให้เหมาะสมสถานการณ์ปัจจุบัน คือ ร่วมใจ รู้เตรียม รู้ระวัง รู้สะอาด ลดภัยเบาหวาน เพื่อชักชวนให้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษา ผู้ที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ หันมาสนใจเพิ่มความระมัดระวังตัวเองช่วงน้ำท่วมโดยเฉพาะบาดแผลที่เกิดจากน้ำท่วม รวมถึงการขาดยาจากการเดินทางลำบาก พร้อมกันนี้กระทรวงสาธารณสุขยังได้ปรับรูปแบบการบริการให้เข้าถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานมากขึ้น โดยในพื้นที่น้ำท่วมสูงเดินทางไม่สะดวกกระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้งประจำจุดและสัญจรซึ่งจะมียาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆรวมทั้งเบาหวานด้วย ส่วนผู้ป่วยที่อพยพไปต่างจังหวัดสามารถขอรับยาได้ที่สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่พัก

          ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเตรียมรับมือกับโรคเบาหวานในระหว่างน้ำท่วมนั้นผู้ที่เป็นเบาหวานจะต้องเตรียมยาให้เพียงพออย่างน้อย 1 2 เดือน หากตรวจสอบพบว่ามียาน้อยกว่า 5 วันให้รีบติดต่อสถานพยาบาล เตรียมหาสถานที่พักที่ใกล้กับสถานพยาบาล ควรที่จะต้องอพยพเมื่อทางการแจ้งให้อพยพออกนอกพื้นที่ พกน้ำตาล น้ำหวาน หรือลูกอม 4-5 ชิ้นไว้ประจำตัวตลอดเวลา เมื่อมีอาการน้ำตาลต่ำ ได้แก่มีอาการหิว ใจสั่น เหมือนจะเป็นลม  ให้ทานน้ำตาล  น้ำหวานหรือลูกอม  1  ชิ้น  อาการจะดีขึ้น  นอกจากนี้ตรวจดูเท้าทุกวันว่ามีรอยแผลหรือไม่ เมื่อลุยน้ำควรล้างทำความสะอาดเท้าและขา เช็ดให้แห้งทุกครั้ง หากมีแผลให้รีบรักษา และต้องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะ และเมื่อมีอาการน้ำตาลสูงได้แก่ อาการกระหายน้ำ ปัสสาวะมาก อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ที่ศูนย์พักพิงหรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่

     **************************       14  พฤศจิกายน  2554



   
   


View 10    14/11/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ