รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางตรวจเยี่ยมติดตามการป้องกันโรคติดต่อจากน้ำดื่มและอาหารในช่วงภัยแล้งที่จังหวัดลพบุรี เผยผลการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านในปี 2549 พบได้มาตรฐานเพียงร้อยละ 40 ส่วนใหญ่ตกเกณฑ์เรื่องความขุ่น และพบเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุอุจจาระร่วงสูงถึงร้อยละ 80 สั่งการให้ทุกจังหวัดเน้นมาตรฐานน้ำประปาหมู่บ้านทั่วประเทศ เข้มพิเศษในพื้นที่ภัยแล้ง ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยผลการตรวจสอบความปลอดภัยอาหารทั่วประเทศ พบกว่าร้อยละ 99 ปลอดภัยจากสารอันตรายปนเปื้อน วันนี้ (9 มีนาคม 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.กาญจนา กาญจนสินิทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง และนายแพทย์ประเสริฐ หลุยเจริญ รองอธิบดีกรมอนามัย เดินทางตรวจเยี่ยมตลาดสดเทศบาล อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี และการควบคุมคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ที่ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 121 แห่งในจังหวัด เพื่อประเมินสถานการณ์และติดตามมาตรการเฝ้าระวังโรคที่มากับภัยแล้งของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในวันนี้ได้มอบชุดตรวจหาแบคทีเรีย ชุดตรวจสารคลอรีนตกค้างในน้ำดื่ม และหยดทิพย์ซึ่งเป็นคลอรีนน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่มภาคสนาม รวมทั้งคำแนะนำประชาชนเรื่องความสะอาดน้ำดื่มน้ำใช้ในช่วงภัยแล้งอย่างละ 200 ชุด นายแพทย์มรกตกล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 46 จังหวัด ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนและการขาดแคลนน้ำ ทำให้เชื้อโรคกลุ่มแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี กลุ่มโรคที่ชี้วัดถึงมาตรฐานความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มที่ชัดเจนที่สุด คือโรคระบบทางเดินอาหาร เชื้อโรคจะปนเปื้อนอยูในอาหารและน้ำดื่ม ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด คุมเข้มมาตรการความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งชนิดสด ชนิดปรุงเสร็จอย่างต่อเนื่อง ล้างและฆ่าเชื้อในตลาดสดทุกเดือน กวดขันมาตรฐานน้ำดื่มบรรจุเสร็จ น้ำแข็งก้อนและน้ำแข็งหลอด ส่วนเรื่องน้ำประปามีความสำคัญมาก จากการตรวจที่ประปาหมู่บ้าน ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่งใช้น้ำจากผิวดิน พบมีปัญหาเรื่องความกระด้างจะต้องต้มก่อนดื่ม โดยจากการตรวจคุณภาพน้ำประปาทั่วประเทศในปี 2549 กลุ่มประปาในเขตเมืองซึ่งมีประมาณ 225 แห่ง พบได้มาตรฐานร้อยละ 70 ส่วนประปาหมู่บ้านซึ่งมีกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ พบตกเกณฑ์ถึงร้อยละ 60 ส่วนใหญ่จะมีปัญหาน้ำขุ่น และพบเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม อี. โคไล (E. Coli) สูงถึงร้อยละ 80 หากชาวบ้านนำไปดื่มโดยไม่ผ่านการต้มก็จะทำให้เป็นโรคอุจจาระร่วงได้ ซึ่งขณะนี้ประปาหมู่บ้านอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น การป้องกันปัญหานี้จะต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐานโดยเติมสารคลอรีนฆ่าเชื้อโรคให้ได้ 0.2-0.5 พีพีเอ็ม ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก หากอยู่ในพื้นที่ที่มีโรคระบาดจะต้องให้มีคลอรีนเข้มข้นถึง 1 พีพีเอ็ม ได้สั่งการให้ศูนย์อนามัยที่มี 12 เขตทั่วประเทศ เฝ้าระวังควบคุมคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง นายแพทย์มรกตกล่าวต่อว่า จากการตรวจเยี่ยมมาตรการป้องกันโรคช่วงภัยแล้งที่จังหวัดลพบุรีในวันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เข้มมาตรการความปลอดภัย ทั้งอาหาร น้ำดื่ม และน้ำใช้อย่างดี มีศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ สุ่มตรวจอาหารทุกเดือน หากพบมีสารปนเปื้อนจะติดตามถึงแหล่งผลิต ส่วนการเจ็บป่วยของประชาชน ในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2550 ทั้งจังหวัดพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 3,530 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ พบอายุน้อยกว่า 28 วันป่วย 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แนวโน้มลดลงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2549 ที่พบผู้ป่วยทั้งหมด 3,589 ราย สถานการณ์จัดอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหาร เมื่อปลายปี 2549 เป็นหน่วยควบคุมมาตรฐานอาหารทุกประเภท รวมทั้งสถานที่ผลิตและจำหน่ายโดยเฉพาะ ผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารทั่วประเทศ ครั้งล่าสุดช่วงเดือนตุลาคม – 31 ธันวาคม 2549 โดยสุ่มตรวจการปนเปื้อนสารอันตราย 6 ชนิดในอาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล อาหารแห้ง จำนวน 19,886 ตัวอย่างในตลาดสดทั่วประเทศ 1,525 แห่ง พบกว่าร้อยละ 99 ปลอดภัย ตกเกณฑ์เพียงร้อยละ 0.56 ส่วนที่เป็นปัญหามากก็คือ ยาฆ่าแมลง พบตกค้างในผักสดหลายชนิด เช่น พริก ผักชีทุกชนิด ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง คึ่นฉ่าย สะระแหน่ โหระพา ผักกาดหอม ผักกาดขาว ส่วนผลไม้พบในชมพู่ ส้มโชกุน องุ่นไร้เมล็ด และยังพบในปลาอินทรีย์เค็ม ปลาริวกิวแดดเดียว นอกจากนี้พบสารบอแร็กซ์ในหมูสับสุก เนื้อวัว ขนมเทียนไส้เค็ม กุนเชียงหมู ทอดมันปลากราย ลูกชิ้นเอ็น และพบฟอร์มาลีนในสไบนางและปลาหมึกกรอบ ส่วนการสุ่มตรวจอาหารปรุงเสร็จที่ตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ตในกทม. พบมีเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนร้อยละ 30 เช่น แซนวิชทูน่า แอแคร์ อาหารประเภทยำเกือบทุกชนิด ก๋วยจั๊บ หมูแดง หมูทอด ส่วนที่ลพบุรีมีตลาดสด 15 แห่ง ผ่านการรับรองเป็นตลาดสดน่าซื้อระดับดีและดีมาก 12 แห่ง ผลการตรวจสอบอาหารสดในตลาดสดหมู่บ้าน และชุมชน รวมทั้งที่ตลาดพัฒนานิคม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จำนวน 5,971 ตัวอย่าง พบมีความปลอดภัยเกือบ 100% โดยพบยาฆ่าแมลงในแตงกวา กะหล่ำปลี ต้นหอม คะน้า รวม 4 ตัวอย่าง ซึ่งรับมาจากตลาดสิงห์บุรี ได้ประสานงานไปยังจังหวัดสิงห์บุรี ส่วนอาหารถุงพบไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 40 ได้ให้ผู้ขายปรับปรุงเรื่องความสะอาด ผลการตรวจคุณภาพน้ำดื่ม พบผ่านมาตรฐานเกือบทั้งหมด มีเพียง 2 ตัวอย่างที่มีโคลิฟอร์มเกินมาตรฐานที่กำหนด ได้แจ้งผู้ประกอบการให้ปรับปรุงและตรวจซ้ำอีกครั้ง หากพบว่ายังไม่ได้มาตรฐานจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนล้างผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทาน โดยล้างผักสดด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งและคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการใช้น้ำก๊อกไหลผ่านผักสดนานอย่างน้อย 2 นาที จะช่วยลดปริมาณสารพิษได้ร้อยละ 54-63 แต่ในช่วงหน้าแล้ง ขาดแคลนน้ำ แนะนำให้แช่ผักในน้ำอุ่น 1 กะละมัง ประมาณ 4 ลิตร ใส่โซเดียมไปคาร์บอเนตหรือผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ นาน 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ลดสารพิษได้ร้อยละ 90-95 หรือใช้น้ำส้มสายชู (5%) 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่นาน 15 นาที ช่วยลดสารพิษได้ร้อยละ 60-84 ส่วนอาหารถุงก่อนรับประทานต้องอุ่นให้เดือดทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรค นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคและภัยสุขภาพจากภัยแล้ง เพื่อเฝ้าระวังการเจ็บป่วยอย่างใกล้ชิด จากการติดตามการเจ็บป่วยของประชาชนจากโรคอุจจาระร่วงในรอบ 2 เดือนปีนี้ ทั่วประเทศมีผู้ป่วย 146,848 ราย เสียชีวิต 11 ราย ซึ่งลดลงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2549 ที่พบผู้ป่วย 240,734 ราย เสียชีวิต 14 ราย และยังไม่ผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรคติดต่อกันกว่า 10 ปี *********** 9 มีนาคม 2550


   
   


View 7    09/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ