รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายการทำงานให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ยึดหลักพัฒนาองค์ความรู้ควบคู่กับคุณธรรม และพร้อมให้การสนับสนุนและผลักดันงานเร่งด่วน อาทิ โครงการสนองพระราชดำริ การพัฒนาห้องปฏิบัติการ การพัฒนาชุดทดสอบ จัดตั้งไบโอแบ็งค์ เพื่อพัฒนายาหรือวัคซีน และสร้างนวตกรรมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทยสู่สากล เป็นต้นแบบของภูมิภาคเอเชีย วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2553) นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมอบนโยบายเป็นแนวทางการทำงาน 2 เรื่อง คือการพัฒนาองค์ความรู้ควบคู่กับคุณธรรม บูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานให้เกิดผลประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย นางพรรณศิริกล่าวต่อว่า งานที่ผลักดันอย่างเร่งด่วน มี 7 เรื่อง ได้แก่ 1. โครงการสนองพระราชดำริในทุกพระองค์ เช่นโครงการแก้ปัญหาการขาดไอโอดีน พัฒนาไอคิวเด็กไทย 2.การพัฒนา วิจัย ให้จัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ นำงานวิจัยไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะสมุนไพร 3.การพัฒนาบุคลากรด้านขวัญกำลังใจ ให้ทำงานเต็มขีดความสามารถ 4.การส่งเสริมมาตรฐานและรับรองคุณภาพทางห้องปฏิบัติการ 5.การพัฒนาชุดทดสอบสารเคมี สารปนเปื้อนในอาหาร โดยให้อบต.มีส่วนร่วมในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับตำบล มีการเฝ้าระวังสิ่งปนเปื้อนอันตรายในอาหาร โดยใช้ชุดทดสอบภาคสนามของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งใช้ง่ายและสะดวก 6.ผลักดันโครงการจัดตั้งธนาคารชีววิทยาศาสตร์หรือไบโอแบงค์ จัดเก็บเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค นำไปสู่การพัฒนายาหรือวัคซีน และตั้งโรงงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์ผลิตวัคซีนใช้เองได้ในประเทศ โดยจะของบดำเนินการจากโครงการไทยเข็มแข็งในระยะที่ 2 เพื่อสร้างนวตกรรมทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ของประเทศไทยสู่สากล เป็นต้นแบบของภูมิภาคเอเชีย และ 7.การประชาสัมพันธ์ผลงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนอย่างกว้างขวาง นางพรรณสิริกล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่เป็นความก้าวหน้าของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขณะนี้ ก็คือการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์สารไดออกซิน (Dioxin) แห่งเดียวในประเทศ เพื่อตรวจหาสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร เป็นการดูแลความปลอดภัยด้านอาหารแก่ประชาชน และส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยสู่สากล เนื่องจากสารดังกล่าวมีอันตรายทำให้กล้ามเนื้อไม่มีแรง ประสาทการรับรู้ที่บริเวณปลายมือปลายเท้าสูญเสียหน้าที่ และก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยจะสามารถเปิดให้บริการตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป ************************************* 4 กุมภาพันธ์ 2553


   
   


View 13    04/02/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ