กรมการแพทย์แผนไทยฯยืนยัน “กัญชาทางการแพทย์แผนไทย” มีประโยชน์มากกว่าโทษ แนะประชาชนใช้ตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข


 
กรมการแพทย์แผนไทยฯยืนยัน “กัญชาทางการแพทย์แผนไทย” มีประโยชน์มากกว่าโทษ แนะประชาชนใช้ตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุข 
           กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยืนยันกัญชาทางการแพทย์แผนไทย มีประโยชน์     มากกว่าโทษ หากใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งต้องใช้ตามข้อแนะนำในประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา)อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก สตรีมีครรภ์          สตรีให้นมบุตร ห้ามรับประทาน ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ควรใช้กัญชาทุกกรณี 


          นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กัญชา    เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทย ทุกส่วนของกัญชาทั้ง ราก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ช่อดอกและเมล็ด นำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ด้านการแพทย์แผนไทยได้นำพืชกัญชามาใช้ในกลุ่มอาการนอนไม่หลับ ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย แก้ไข้ แก้ปวดกล้ามเนื้อ แก้ปวดท้อง แก้ไอ ฯลฯ ปัจจุบัน กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้กลั่นกรองตำรับยากัญชาตามภูมิปัญญาทั้งจากตำรายาชาติและตำรับของหมอพื้นบ้านมีการประกาศให้ใช้ได้ตามกฎหมายแล้ว          44 ตำรับ เป็นตำรับที่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน ผ่านกระบวนการศึกษาวิจัย และล่าสุดได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ      ด้านสมุนไพรแล้ว 5 รายการ คือ ตำรับยาศุขไสยาสน์ ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ยาน้ำมันกัญชา (ตำรับหมอเดชา ) และน้ำมันกัญชาทั้ง 5 ดำเนินการตรวจวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยโดยแพทย์แผนไทย/แพทย์แผนไทยประยุกต์ ภายใต้ข้อบังคับสภาการแพทย์แผนไทยทั้งหลักวิชาการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพขอให้ประชาชนมั่นใจ 
 นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงประโยชน์จากพืชกัญชา ได้ประกาศนโยบายกัญชาเสรี สร้างรายได้จากพืชกัญชา เพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ เกิดเป็นนโยบายด้านสุขภาพที่นำพืชกัญชามาใช้ในการรักษาโรคและการวิจัย โดยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนรวมตัวกันกับภาครัฐในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์และศึกษาวิจัย เนื่องจากวิสาหกิจชุมชนเป็นกิจการของชุมชนที่ดำเนินการโดยกลุ่มคน คณะบุคคล ที่มีความสัมพันธ์ผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจกรรม กิจการดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้ และการพึ่งพาตนเอง ครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน เป็นการสร้างให้เกิดอุปสงค์ที่ยั่งยืน เกิดการปลูก การผลิต รวมถึงต่อยอดให้เกิดการศึกษาวิจัยผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ เช่น ยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร 
 “ข้อกังวลการใช้กัญชาไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หลังมีประกาศปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษ ล่าสุดได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) กำหนดให้ใช้กัญชาได้ในผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป      เน้นการใช้ในทางการแพทย์เพื่อการรักษา การมีข้อกำหนดเรื่องห้ามใช้ ห้ามสูบ เสพในที่สาธารณะ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนจากประกาศ   มีโทษทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำเรื่องการใช้กัญชาปรุงอาหารและเครื่องดื่ม การห้ามใช้ใน เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ห้ามรับประทาน สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือความพยายามที่จะร่วมกันเดินไปข้างหน้า หากมีช่องโหว่ ช่องว่างตรงไหน ก็ร่วมกันปรับแก้ไข  เพราะในมุมที่เป็นข้อบกพร่องก็ย่อมมีข้อดีของสมุนไพรตัวนี้เช่นกัน ควรหาทางออกร่วมกันอย่างจริงใจ”นายแพทย์ยงยศกล่าว 
 
………………………………………………….17 มิถุนายน 2565....................................................

ขอขอบคุณ
ที่มา ----- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก


จากหน่วยงาน : สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 17 มิถุนายน 2565 เวลา 15:58 น.