เตือนภัยโรคไข้เลือดออก หลังฝนตกจากช่วงพายุฤดูร้อน


          จากการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ (14-20 มีนาคม 2564)  โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขคาดว่า มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น ด้วยสถานการณ์โรคไข้เลือดออก  ในปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 มีนาคม 2564 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 1,621 ราย เสียชีวิต 1 ราย  กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมา อายุ 25-34 ปี โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ได้แก่ การได้รับการวินิจฉัยล่าช้า รวมถึงมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัย

เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมามีพายุฤดูร้อน เกิดฝนตกฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ กลายเป็นแหล่งเพราะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ที่อาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุติดเตียง  ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

  1. เก็บบ้าน ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์
  2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง   
  3. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่

นอกจากนี้ยังเน้นการป้องกัน โดยพยายามไม่ให้ยุงกัดด้วยการทายากันยุง นอนในมุ้ง ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

                                อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนสังเกตอาการ เมื่อมีอาการไข้สูง ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้เฉพาะยาพาราเซตามอล โดยห้ามใช้ยากลุ่ม NSAID (non-steroidal anti-inflammatory drug) เช่น ยาแอสไพริน หรือไอบูโพรเฟนเพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

 

 

แหล่งข้อมูล  : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

 

วันที่          :  16  มีนาคม 2564


จากหน่วยงาน : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 16 มีนาคม 2564 เวลา 11:37 น.