แนะนำแอปพลิเคชั่น “ทันระบาด” เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาชุดซอฟต์แวร์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกอัจฉริยะ เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ในการดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งดำเนินการควบคุมการระบาดของโรคได้ตรงเป้าหมายทันที

             นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปี 2562 นี้  กรมควบคุมโรคได้รับรางวัลผลงานคุณภาพ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จำนวน 8 รางวัล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ชุดซอฟต์แวร์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกอัจฉริยะ โดยกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐระดับดีเด่น ประเภทนวัตกรรมบริการ ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ในการดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก และพัฒนารูปแบบการบริการ การดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกเชิงรุก ซึ่งสามารถจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการเกิดโรคร่วมกับข้อมูลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แบบเรียลไทม์ ที่มีมาตรฐานวิชาการ และเป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ทำให้การป้องกันโรคไข้เลือดออกมีประสิทธิภาพ แจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยง และดำเนินการควบคุมโรคได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ส่งผลให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก และผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน เศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้

             โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย โดยสรุปสถานการณ์โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยในระยะยาวสูงขึ้น รวมทั้งยังพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แม้ในช่วงนอกฤดูกาลระบาด ซึ่งหากพบผู้ป่วยรัฐต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และตัวผู้ป่วยเองจะสูญเสียเวลา และรายได้ขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล อีกทั้งหากมีการระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศ จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ทำให้จำนวนนักเที่ยวลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

             จากผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นต้องลดปัจจัยสำคัญที่เสี่ยงในการเกิดโรคไข้เลือดออก คือ การพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค เพื่อให้รู้เท่าทันการระบาดของโรค และแจ้งเตือน หรือควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างทันที ด้วยการพัฒนาชุดซอฟต์แวร์ทันระบาด ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถจัดการการเกิดโรคไข้เลือดออกแบบ One-stop service ที่คลอบคลุมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ภายใต้การขับเคลื่อนระดับประเทศ

              แพทย์หญิงชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กล่าวเสริมว่า ชุดซอฟต์แวร์ทันระบาด สามารถวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคไข้เลือดออกที่มีมากกว่า 1 มิติ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจากโปรแกรม R506 ผ่านแพลตฟอร์ม การจัดการข้อมูลแบบเรียลไทม์ (BigStream) ประสานกับข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลายจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีคุณภาพและแม่นยำ โดยปัจจุบันทันระบาด มี 4 แอปพลิเคชันที่สำคัญ  คือ  1.ทันระบาด-สำรวจ (TanRabad-Survey) สามารถบันทึกข้อมูลลูกน้ำยุงลาย ระบุพิกัดภูมิศาสตร์ของสถานที่ที่ถูกสำรวจ และรายงานค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลายได้ทันที  2.ทันระบาด-ติดตาม (TanRabad-Watch) นำเสนอสถานการณ์การระบาดโรคไข้เลือดออก ข้อมูลสถานการณ์โรคมุมมองเชิงคุณภาพ  3.ทันระบาด-รายงาน (TanRabad-Report) การสร้างรายงานการระบาดของโรคไข้เลือดออก และรายงานผลค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลายในรูปแบบกราฟ ตาราง และแผนที่แบบอัตโนมัติ  4.ทันระบาด-วิเคราะห์ (TanRabad-BI) สร้างรายงานเชิงวิเคราะห์ หรือรายงานเชิงลึก เพื่อกำหนดรูปแบบการดำเนินงานเชิงพื้นที่ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

              สำหรับแอปพลิเคชันทันระบาด เป็นเครื่องมือในการติดตามผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ใน “แผนยุทธศาสตร์โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ปี 2561-2564” เพื่อขับเคลื่อนระดับนโยบายจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ ทำให้เป็นจุดแข็งในการถ่ายทอดการใช้งาน และให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ทั้งนี้ แอปพลิเคชั่น “ทันระบาด” ยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 นวัตกรรมระดับชาติ ปี พ.ศ.2561 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และยังได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับ “ประกาศเกียรติคุณ” จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี พ.ศ. 2562

              แอปพลิเคชั่น “ทันระบาด” เป็นระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ที่ครอบคลุมทั้งด้านคน เชื้อโรค พาหะนำโรค และสิ่งแวดล้อม ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถแอปพลิเคชั่นนี้ สามารถชี้พื้นที่ที่มีการระบาด ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ยังส่งผลให้การระบาดในปี พ.ศ. 2561 ชะลอลง ทำให้รัฐลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาล และต้นทุนค่าสูญเสียรายได้ของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลง

 

--------------------------------------------------------------------------------------------------------

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนบริการสุขภาพ (สสส.)

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 27 ธันวาคม 2562 เวลา 10:54 น.