สธ.ร่วมฝึกซ้อมราชพฤกษ์ รับมือด้านการแพทย์ฉุกเฉินจากเหตุ Dirty Bomb โจมตีและภัยจากกัมมันตรังสี


          กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการฝึก "ราชพฤกษ์" วางแผนและฝึกซ้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินและบรรเทาเหตุ จากการโจมตีด้วยระเบิดกัมมันตรังสี หรือ Dirty Bomb และภัยจากกัมมันตรังสี หากมีการก่อวินาศกรรมผ่านการจำลองสถานการณ์ ช่วยเสริมทักษะและประสิทธิภาพการรับมือทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ทางรังสี รวมถึงกรณีภัยจากกัมมันตรังสี

          วันนี้ (16 พฤษภาคม 2566) ที่โรงแรมแมริออท มาคีส์ ควีนส์ ปาร์ค กทม. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายนพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานพิธีเปิดการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Tabletop Exercise: TTX) ภาคภาษาอังกฤษ หัวข้อ Radiological Medical Response Workshop หรือการฝึกซ้อมราชพฤกษ์ จัดโดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. DOS) และกระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. DOE) ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2566 

          นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า โดยปกติในทางการแพทย์มีการนำสารกัมมันตภาพรังสีและรังสีก่อไอออนมาใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยและการรักษาโรค เช่น นำมาใช้ในเครื่องเอกซเรย์ การฉายรังสีรักษามะเร็ง การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งไทรอยด์ การฝังแร่รักษามะเร็ง เป็นต้น หรือที่เรียกว่าเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม กัมมันตภาพรังสีเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ในการก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมได้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี จำเป็นต้องมีทีมแพทย์ฉุกเฉินที่มีทักษะพิเศษ มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการรับมือดูแลผลกระทบที่เกิดจากรังสี และมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยชีวิตคนจำนวนมากเมื่อเกิดสถานการณ์ เนื่องจากผลกระทบของเหตุการณ์อาจเป็นวงกว้างและมีความซับซ้อน ซึ่งการประชุมฝึกซ้อมราชพฤกษ์ในวันนี้เป็นโอกาสในการแบ่งปันมุมมองและแนวปฏิบัติที่ดี เกี่ยวกับการตอบสนองทางการแพทย์ในเหตุการณ์สำคัญทางรังสี ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ ทำให้ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ และได้ทบทวนการปฏิบัติระดับชาติผ่านการฝึก และได้แนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีระดมทรัพยากรที่จะตอบสนองต่อเหตุการณ์รังสีอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมทักษะและประสิทธิภาพของการรักษาทางการแพทย์อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพหลังจากเกิดเหตุฉุกเฉิน และเป็นการป้องกันและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชน

          นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า การฝึกซ้อมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 70 คน ประกอบด้วย ผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งจากกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค ผู้แทนของ ปส. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และหน่วยงานด้านการแพทย์และด้านการตอบสนองเหตุทางนิวเคลียร์และรังสีจากประเทศต่างๆ จำนวน 12 ประเทศ โดยจะร่วมกันวางแผนและฝึกซ้อมการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการบรรเทาเหตุจากการโจมตีด้วยระเบิดกัมมันตรังสี (Dirty Bomb) หรือ Radiological Dispersal Device (RDD) ผ่านการจำลองสถานการณ์ รวมถึงมีการอภิปรายของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์การดำเนินงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดความร่วมมือด้านการตอบสนองเหตุทางนิวเคลียร์และรังสีระหว่าง อว.และกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต และเน้นย้ำถึงสมรรถนะและบทบาทของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพร่วม 

******************* 16 พฤษภาคม 2566

.

****************************

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 16 พฤษภาคม 2566 เวลา 15:35 น.