รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก ใช้ “เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สาย” รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ แห่งแรกในภาคเหนือ


                       

                       โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ใช้นวัตกรรมเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบไร้สาย รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นแห่งแรกในภาคเหนือ ตัวเครื่องขนาดเล็กกว่าแบบทั่วไปถึง 10 เท่า อายุการใช้งานประมาณ 14 ปี สร้างโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ และลดการเสียชีวิต

                       นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 2 ให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยการผ่าตัดใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ปีละประมาณ 150 คน และมีการรักษาผ่านคลินิกเครื่องกระตุ้นหัวใจ ปีละกว่า 1,000 คน เดิมเป็นการผ่าตัดฝังเครื่องไว้ที่หัวไหล่และมีสายเชื่อมไปยังหัวใจห้องขวาล่าง ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้มีข้อจำกัดอาจเกิดการชำรุดได้ ทั้งนี้ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช นำนวัตกรรมเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบไร้สายมาใช้รักษาผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะสำเร็จเป็นรายแรกในภาคเหนือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม และเป็นการยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจในภูมิภาค

“เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบไร้สายนี้ มีขนาดเท่ากับยาแคปซูล เล็กกว่าแบบทั่วไปถึง 10 เท่า ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาสายเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบเก่า มีอายุการใช้งานประมาณ 14 ปี ตัวเครื่องมีตัวเกี่ยวคล้ายสมอนำไปเกี่ยวที่ผนังกั้นห้องหัวใจของผู้ป่วยทำหน้าที่กระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจหรือเต้นตามจังหวะที่ต้องการ แต่ยังมีข้อจำกัดในผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต” นายแพทย์ภาณุมาศกล่าว

                       สำหรับประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนในชุมชนเมือง รวมทั้งกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มาจากไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน รวมถึงโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดเร็ว ที่เป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดหลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทั้งนี้ แม้ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะจะเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย และไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่มีวิธีที่จะช่วยลดโอกาสเกิดโรค คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และตรวจเช็คสุขภาพเป็นประจำ

 

 

************************* มกราคม 2566


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 15 มกราคม 2566 เวลา 13:38 น.