สธ. ยันดูแลทุกสิทธิรับบริการป้องกัน “เอชไอวี” ส่วนภาคประชาสังคมยังจัดบริการได้ตามปกติภายใต้ระเบียบกำหนด


          กระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ยืนยันอาสาสมัคร “ภาคประชาสังคม” จัดบริการป้องกัน “เอชไอวี”ได้ตามปกติ ภายใต้ระเบียบ 3 ฉบับ ที่ให้ดำเนินการภายใต้การควบคุมของวิชาชีพ เช่น ให้คำปรึกษา เจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ จ่ายยาตามเภสัชกรสั่ง ส่วนกรณีงบป้องกันโรคกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองอยู่ระหว่างตีความทางกฎหมายขอให้จัดบริการตามปกติ โดยเก็บข้อมูลเพื่อรอเบิกจ่าย หรือหากยังไม่พร้อมบริการ ให้แจ้ง สปสช. ช่วยประสานหน่วยจัดบริการแทน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

          วันนี้ (13 มกราคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วมกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และผู้เกี่ยวข้อง กรณีการให้บริการป้องกันเอชไอวีของผู้ที่ไม่อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในหน่วยบริการภาคประชาสังคม (Community Based Organization :CBO)

          นพ.โอภาสกล่าวว่า กรณีการรักษาเอชไอวี/เอดส์ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือ บัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ยังรับบริการและรับยาได้ตามปกติ ส่วนบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ในส่วนของสิทธิบัตรทองยังรับบริการได้ตามปกติเช่นกัน เช่น บริการถุงยางอนามัย ยาป้องกันเอชไอวีก่อนการสัมผัส (PrEP) และยาป้องกันเอชไอวีหลังสัมผัส (PEP) เป็นต้น ซึ่งมีการลงนามจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการทั้งหมดแล้ว สามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ ยกเว้นงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง (PP Non UC) ประมาณ 5 พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างตีความทางกฎหมาย หน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะให้การดูแลตามเดิม ไม่ให้ได้รับผลกระทบโดยจะเก็บข้อมูลไว้รอเบิกจ่ายกับ สปสช.ภายหลัง ขณะที่หน่วยบริการนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สปสช.จะไปติดตามทำความเข้าใจและวางระบบบริหารจัดการ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อการป้องกันควบคุมโรค การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี และทำให้โรคเอดส์ระบาดมากขึ้น

          นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนองค์กรภาคประชาสังคม หรือ CBO ที่มาช่วยภาครัฐจัดบริการป้องกันเอชไอวี ถือว่าเข้ามาช่วยปิดช่องว่างของภาครัฐ ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงบริการง่ายขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะไม่สะดวกไปรับบริการภาครัฐ แต่ย้ำว่า หน่วยบริการภาคประชาสังคมไม่ใช่หน่วยบริการสาธารณสุข จึงไม่สามารถวินิจฉัยแทนแพทย์ จ่ายยาแทนเภสัชกร หรือตรวจแล็บแทนเทคนิคการแพทย์ได้ การดำเนินงานจึงมีระเบียบกระทรวงสาธารณสุขออกมารองรับ 3 ฉบับ เพื่อมอบหมายให้ดำเนินงานในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เทคนิคการแพทย์ และเภสัชกรรม โดยจะไปช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มเสี่ยง ในการให้บริการปรึกษาก่อนหรือหลังการตรวจ การปรึกษาทางการแพทย์ การเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ การเจาะโลหิตจากปลายนิ้ว การตรวจหาการติดเชื้อโดยชุดตรวจแบบง่ายและรู้ผลเร็ว การอ่านผลและรายงานผล การส่งต่อเพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา รวมถึงการใช้ยาสามัญประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยยา เพื่อรักษาอาการเบื้องต้น และยาที่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสั่งจ่ายให้แก่ผู้รับบริการเฉพาะรายหรือเฉพาะคราว ที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวี โรคซิฟิลิส หนองใน หรือหนองในเทียม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน โดยปัจจุบันมีภาคประชาสังคมที่เป็นอาสาสมัคร ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียน 335 คน รวมกว่า 17 องค์กรในหลายจังหวัด

          ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดูแลผู้รับบริการกลุ่มนอกสิทธิบัตรทอง ในส่วนของหน่วยบริการอื่นที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น สปสช.ได้ประสานความร่วมมือแล้วหลายส่วน เช่น กทม. กรมแพทย์ทหารบก กรมแพทย์ทหารเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนภาคประชาสังคมที่จัดบริการ ได้ขอความร่วมมือว่า ในระหว่างที่กำลังแก้ปัญหาด้านกฎหมาย หากสะดวกให้บริการป้องกันโรคเอชไอวีกลุ่มนอกสิทธิบัตรทองยังให้บริการต่อไปได้ โดยให้บันทึกข้อมูลไว้ก่อนแล้วรอเบิกจ่ายกับ สปสช. ภายหลัง แต่หากหน่วยบริการยังไม่ประสงค์จะให้บริการ ก็ขอให้แจ้งมายัง สปสช.เพื่อประสานจัดระบบบริการไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยผู้รับบริการที่มีปัญหา สามารถโทรสายด่วน 1330 กด 16 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่อง 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ได้รับบริการ

****************************** 13 มกราคม 2566


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 13 มกราคม 2566 เวลา 19:23 น.