รพ.มะการักษ์ จ.กาญจนบุรี พัฒนาะบบ Digital Medicine ช่วยบุคลากรให้บริการรวดเร็ว ประชาชนพึงพอใจการบริการมากขึ้น


         รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารส่วนภูมิภาคเยี่ยมชมการพัฒนาระบบ Digital Medicine โรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำงานทุกแผนก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เวชระเบียนมีความครบถ้วนสมบูรณ์ บุคลากรปฏิบัติงานสะดวก ให้บริการรวดเร็ว ลดเวลารอคอยรักษา ประชาชนมีความพึงพอใจในการรับบริการมากขึ้น

          วันนี้ (9 มกราคม 2566) นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารส่วนภูมิภาคเยี่ยมชมการดำเนินงาน Digital Medicine ที่ โรงพยาบาลมะการักษ์ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขนอกสถานที่ และกล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานเป็นหนึ่งในนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ ซึ่งโรงพยาบาลมะการักษ์ เป็นหน่วยงานแห่งแรกๆ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนางานตั้งแต่ปี 2536 และมีการปรับปรุงให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันถือเป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่มีระบบ Digital Medicine ที่สามารถเป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ได้อย่างดี โดยแผนกผู้ป่วยนอก (OPD) เป็นระบบ Digital ทุกกระบวนการบริการ ตั้งแต่การนัดหมาย, การลงทะเบียน, คัดกรอง, X-ray/LAB, พบแพทย์, การเงิน และห้องยา อาทิ การใช้เครื่อง Auto medical LINK GATEWAY ณ จุดซักประวัติ ระบบ Que ระบบ Medical Record เป็นต้น ช่วยให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรการแพทย์ ให้บริการผู้ป่วยนอกในปี 2565 ที่มีวันละกว่า 1,600 ราย ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาในการให้บริการสั้นลง ส่งผลให้ลดระยะรอคอยรักษา และผู้รับบริการมีความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้น

          นายแพทย์พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า สำหรับระบบผู้ป่วยใน เริ่มจากการพัฒนา IPD PAPERLESS ในโรงพยาบาลสนามช่วงสถานการณ์โควิด 19 ผ่านระบบรายงานผู้ป่วย Flat Care Team ภายใต้หลักการตรวจประเมินคุณภาพการบันทึกเวชระเบียน (Medical Record Audit Guideline) จากนั้นนำแนวคิดไปต่อยอดในหอผู้ป่วยศัลยกรรมชาย ศัลยกรรมหญิง และพรีเมี่ยม ตั้งแต่กระบวนการรับผู้ป่วย, การบันทึกสัญญาณชีพ, การสั่งยา, การรับคำสั่งแพทย์, การลงบันทึกของพยาบาล, การวินิจฉัยโรคของแพทย์ เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยลดการใช้กระดาษ แต่ที่สำคัญคือ ลดความคลาดเคลื่อนจากคำสั่งแพทย์ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูล เวชระเบียนมีความครบถ้วนสมบูรณ์ บุคลากรสามารถปฏิบัติงานได้ง่ายขึ้น

 *********************************************  9 มกราคม 2566


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 มกราคม 2566 เวลา 12:48 น.