รพ.เพชรบูรณ์ ปลูกถ่ายกระจกตาสำเร็จ ช่วยผู้ป่วยกลับมามองเห็น - ใช้ชีวิตปกติ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น


         โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ พัฒนาศูนย์รับบริจาคอวัยวะและดวงตา ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ล่าสุด ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ปลูกถ่ายกระจกตาผู้ป่วย3 ราย เป็นผลสำเร็จ ช่วยให้ผู้ป่วยได้กลับมามองเห็นอีกครั้ง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

       นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการดำเนินงานบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายอวัยวะ โดยบรรจุเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และมีนโยบายให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะพร้อมพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะ และจัดตั้งศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดได้มีโอกาสเข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตและดวงตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำหรับเขตสุขภาพที่ 2 โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ได้เริ่มก่อตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะตั้งแต่ปี 2559 และมีการจัดเก็บดวงตาและรับบริจาคอวัยวะรายแรกได้สำเร็จ แต่เนื่องจากยังมีผู้ปฏิบัติงานด้านนี้จำนวนไม่มากนัก จึงได้ส่งจักษุแพทย์เข้าศึกษาต่อหลักสูตรเฉพาะทางการปลูกถ่ายผ่าตัดกระจกตา จำนวน 1 คน และส่งแพทย์เข้าร่วมอบรมการจัดเก็บไต จำนวน 3 คน  นอกจากนี้ ยังได้ส่งทีมพยาบาลเข้ารับการอบรมหลักสูตรเฉพาะทางเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายอวัยวะ จำนวน 2 รุ่น และเข้าอบรมหลักสูตรการจัดเก็บดวงตา 3 รุ่น จำนวน 3 คน ล่าสุด สามารถปลูกถ่ายกระจกตาให้กับผู้ป่วยจำนวน 3 ราย ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาโดยได้รับความร่วมมือจากจักษุแพทย์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

       นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า การรับบริจาคอวัยวะนอกจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ยังถือว่าได้ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญให้ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายได้สร้างกุศลครั้งสุดท้ายในการให้ชีวิตใหม่กับผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะได้กลับไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีโอกาสที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมสืบต่อไป ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลเพชรบูรณ์มีการเจรจาทำความเข้าใจกับญาติเพื่อการตัดสินใจบริจาคอวัยวะและดวงตาในผู้ป่วยสมองตายอย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งทีม TC Nurse ประจำหอผู้ป่วย ทำหน้าที่ค้นหาผู้ป่วยสมองตายที่เข้าเกณฑ์การบริจาคอวัยวะและดวงตา พร้อมให้คำปรึกษาแก่ญาติที่แสดงความจำนงบริจาค ซึ่งผู้ป่วย 1 ราย สามารถบริจาคอวัยวะได้หลายรายการ ได้แก่ หัวใจ ตับ ไต ปอด (ซ้าย-ขวา)ลิ้นหัวใจ ตับอ่อน ผิวหนัง กระดูกและเส้นเอ็น และกระจกตา ทั้งนี้ ในปี 2561 สามารถเจรจาและจัดเก็บดวงตาจากผู้เสียชีวิต จำนวน 14 ราย/28 ดวงตา ปี 2562 จำนวน 16 ราย /32 ดวงตา และปี 2564 จำนวน 24 ราย/45 ดวงตา ได้รับรางวัลผู้มีผลงานการเจรจาฯ เป็นอันดับ 1 ของประเทศ จากศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย ภาพรวมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 - 2566 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2565) มีการเจรจา 417 ราย ยินยอมบริจาค 163 ราย สามารถจัดเก็บอวัยวะได้ 102 ราย เป็นดวงตา 100 ราย/194 ดวงตา ไต 40 ราย/79 ข้างตับ 3 ราย หัวใจ 1 ราย ลิ้นหัวใจ 9 ราย ในระยะต่อไปมีแผนจะดำเนินการปลูกถ่ายกระจกตาให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาใกล้บ้าน และยังวางแผนจัดเก็บไตที่ได้รับบริจาคส่งมอบให้กับสภากาชาดไทย เพื่อนำไปจัดสรรให้กับผู้ป่วยที่รอคิวรับการปลูกถ่ายต่อไป

********************************************* 7 มกราคม 2566


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 8 มกราคม 2566 เวลา 11:23 น.