สธ.ระดมสถาบันเชี่ยวชาญกรมการแพทย์ ลุยวิจัย “กัญชาทางการแพทย์” ปี 2566 เน้นผู้ป่วยเข้าถึงอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย


          กระทรวงสาธารณสุข ระดมทีมจากสถาบันเชี่ยวชาญในสังกัดกรมการแพทย์ ศึกษาวิจัยการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งการรักษาโรคและเวชสำอาง วางแนวทางปี 2566 เน้นผู้ป่วยเข้าถึงอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย มุ่งติดตามการใช้สารสกัดชนิด CBD สูงรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็ก เพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักฯ บัญชี 1 ในปี 2567 ศึกษาการใช้เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ต่อยอดผลิตเวชสำอางด้วยเทคโนโลยีห่อหุ้มระดับนาโน พร้อมพัฒนาเครื่องตรวจสารสกัดกัญชาเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการใช้

           วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา และนพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) และพญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง แถลงข่าวกัญชาทางการแพทย์รักษาโรคและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

            นพ.โอภาสกล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สังคมโลกมีการนำกัญชามาใช้รักษาอาการเจ็บป่วย ทำให้เกิด
การศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวาง ซึ่งในประเทศไทยเรื่องนี้เป็นภูมิปัญญาที่มีมายาวนาน จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์และวิจัยในปี 2562 โดยกำหนดในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) สาขากัญชาทางการแพทย์ และเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุขในการส่งเสริมให้นำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยอย่างปลอดภัยและเข้าถึงยากัญชาอย่างมีคุณภาพ โดยดำเนินการครอบคลุมหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 90% ในปีงบประมาณ 2565 ผู้ป่วยเข้าถึงยากัญชา มากขึ้นถึง 159.64% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยประคับประคองกว่า 8,000 คน ส่วนการวิจัยมีกว่า 60 เรื่อง ครอบคลุมทั้งการปลูกการผลิต การใช้ และการวางระบบเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ส่งผลให้ปัจจุบันมียากัญชาถึง 10 รายการถูกคัดเลือกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ

            นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับปี 2566 จะมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งกรมการแพทย์ได้จัดทำคำแนะนำในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็น 3 กลุ่ม คือ ได้ประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ จะขยายการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ ให้ครอบคลุม ส่วนศึกษาวิจัยจะเน้นตอบโจทย์การสร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนของกัญชาทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะมียาที่ปลูกและผลิตได้ในประเทศ และเป็นหลักฐานสนับสนุนการคัดเลือกเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ในบัญชีหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา 

            นพ.ธงชัยกล่าวว่า ในปี 2566 กรมการแพทย์ในฐานะกรมวิชาการ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษา ค้นคว้าและวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ที่สอดคล้องกับภารกิจศูนย์ความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมุ่งเน้นเรื่องประสิทธิผลและความปลอดภัย ซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ประโยชน์ในการรักษาโรค เนื่องจากมีหลักฐานทางวิชาการที่มีคุณภาพสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด  โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วย AIDS ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ในหลายเรื่อง ได้แก่ กัญชาทางการแพทย์กับการรักษาโรคลมชักในเด็กโรคพากินสัน โดยสถาบันประสาทวิทยาและสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กัญชาทางการแพทย์กับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองและการวิจัยในหนูทดลอง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ การวิจัยการนำสารสกัดจากกัญชา CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น เพื่อลดอาการถอนเมทแอมเฟตามีน ลดการกลับไปเสพซ้ำ และการวิจัยนำสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้นมาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิต เพื่อช่วยลดอาการทางจิต และลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ บรมราชชนนี (สบยช.) วิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์รักษาโรคผิวหนัง และเวชสำอาง รวมถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยสถาบันโรคผิวหนัง ซึ่งได้ความร่วมมือของภาคเอกชนการนำกัญชาทางการแพทย์รักษา โรคผิวหนังและเวชสำอางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้เปิด
“ศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา” ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา โดยสภาเทคนิคการแพทย์ และเข้าร่วมทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ (Inter-laboratory Comparison)
สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา  สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา  11 ชนิด และสามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes
ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ทั้งหมดนี้เพื่อให้กัญชาทางการแพทย์ได้เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพประชาชน

********************************* 23 พฤศจิกายน 2565

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 23 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13:04 น.