สธ. หนุนงานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ


          กระทรวงสาธารณสุข วางแนวคิดการดำเนินงาน “คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจไทยมั่งคั่ง” นำสุขภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยสนับสนุนงานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพรภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน และยังปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาของชาติ

          วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2565) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารนโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ปีงบประมาณ 2566 เพื่อสื่อสารนโยบายและแลกเปลี่ยนกลไกการขับเคลื่อนงานการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย การแพทย์ทางเลือก การคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (ในฐานะนายทะเบียนจังหวัดตามพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542) หัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้ช่วยนายทะเบียนจังหวัด และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในงานการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และงานคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ร่วมประชุมในรูปแบบ Onsite และ Online รวม 230 คน 

          นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แนวคิด “คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจไทยมั่งคั่ง” (Health for Wealth) นำสุขภาพมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” โดยมีการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ซึ่งจากข้อมูลในปี 2563 ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีมูลค่าทางการตลาดถึง 29 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ปี 2565 ก็มีมูลค่าสูงถึง 52,104.3 ล้านบาท ทั้งนี้ การสนับสนุนงานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) นอกจากจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชน ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ยังเป็นการปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย ให้ยังคงอยู่อย่างทรงคุณค่าในเชิงสังคมและวัฒนธรรมของชาติด้วย

          ด้าน นพ.ธงชัย กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเป็นกรมหลักที่ขับเคลื่อนภารกิจ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542  กฎหมายที่เกี่ยวกับสมุนไพรไทย  และการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2566 ได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้น 4 ประเด็น คือ 1.การจัดบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบสุขภาพปฐมภูมิในทุกพื้นที่ 2.บูรณาการแหล่งผลิตยาสมุนไพรในกระทรวงสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน WHO-GMP ทั้งสิ้น 52 แห่ง เน้นการบริหารจัดการผลิตยาสมุนไพรด้วยแนวคิด Demand-Supply Matching ผลิตยาสมุนไพรร่วมกันในเขตสุขภาพ 3.ส่งเสริม สนับสนุน สมุนไพรกัญชา กัญชง แบบครบวงจรทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เวชสำอาง และการรักษาโรค เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ4.วางรากฐานการพัฒนาบุคลากรมุ่งสู่เป้าหมาย ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการแพทย์ดั้งเดิมของเอเชีย ในปี 2570

          ทั้งนี้ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพงานบริการประชาชน และการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ สะดวก คล่องตัว ด้วยแฟลตฟอร์มดิจิทัล รวมถึงผลักดันศูนย์บริการวิชาการและบริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในทุกเขตสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกับภาคีเครือข่ายและหน่วยบริการในส่วนภูมิภาค ทั้งด้านการศึกษา วิจัย พัฒนา บริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนากำลังคน

******************************** 11 พฤศจิกายน 2565


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 11 พฤศจิกายน 2565 เวลา 11:52 น.