สธ.หนุน SME จัดช่องทางพิเศษเพิ่มความสะดวกให้คำปรึกษา-ใบอนุญาตผู้ประกอบการ


         กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ จัดช่องทางพิเศษ SME Fast Lane ให้บริการคำปรึกษาเชิงรุกและการขอใบอนุญาตแบบ One Stop Service กลุ่มผู้ประกอบการ SME เริ่มกลุ่มสมุนไพรและอาหาร 

          วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2565) ที่ ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพเบ็ดเสร็จ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “ช่องทางพิเศษสำหรับให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม SME : SME Fast Lane” โดยมี นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้บริหารสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน

           ดร.สาธิต กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงการดูแลของภาครัฐ และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการขออนุมัติ/อนุญาตต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยช่องทางพิเศษให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม SME : SME Fast Lane เกิดจากความร่วมมือของ 3 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการพัฒนาช่องทางการให้บริการเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงบริการของภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เช่น การให้คำปรึกษา การขึ้นทะเบียน ขอใบอนุญาต ข้อมูลวิชาการต่าง ๆ สำหรับนำไปต่อยอดทางธุรกิจ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการข้อมูลเชื่อมโยงระบบงานบริการ SME One ID โดยจัดทำเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในภาพรวมของประเทศด้วย ถือเป็นก้าวสำคัญในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐที่จะขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของประเทศที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

          ด้านนายแพทย์ไพศาล กล่าวว่า โครงการ “SME Fast Lane” เป็นการเพิ่มช่องทางพิเศษอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) และผู้ประกอบการขนาดย่อม (SME) ได้เข้าถึงบริการด้านต่าง ๆ เช่น รายละเอียดขั้นตอน การกรอกข้อมูลหรือการเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อขอรับอนุญาตด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้บริการให้คำปรึกษาเชิงรุก (Pro-Active Consultation)
ในด้านกระบวนการขออนุญาต การจัดเตรียมข้อมูลเอกสาร และการให้บริการด้านใบอนุญาตต่าง ๆ ของ อย. แบบ One Stop Service โดยในระยะเริ่มต้นให้บริการสำหรับผู้ประกอบการ SME กลุ่มสมุนไพรและอาหาร ที่อาคาร 6 ชั้น 4 อย. และจะขยายบริการให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ที่ อย. ดูแลรับผิดชอบในระยะต่อไป

          ด้าน ดร.วีระพงศ์ กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ MSME ที่มีมากกว่า 3 ล้านราย และเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม สสว. ได้ร่วมกับ สพร. พัฒนาระบบทะเบียนและการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงประสานกับหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจให้บริการแก่ผู้ประกอบการ MSME ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการจากระบบฐานข้อมูล SME One ID ให้ผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน ลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาต ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับบริการกับหน่วยงานรัฐโดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ และที่สำคัญคือ เข้าถึงบริการและโครงการที่ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนได้สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอการยืนยันเอกสารในรูปแบบเดิม

 ********************************* 10 พฤศจิกายน 2565

 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 10 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16:00 น.