สธ.เผย จัดหาและกระจายยารักษาโควิด 19 ไปทั่วประเทศอย่างเพียงพอ


      รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย มีการจัดหาและกระจายยาต้านไวรัสรักษาโควิด 19 ไปทั่วประเทศอย่างเพียงพอ ฟาวิพิราเวียร์ 6.8 ล้านเม็ด และโมลนูพิราเวียร์ 6.6 ล้านเม็ด อยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มอีก 30 ล้านเม็ด เพื่อสามารถมียาใช้มากกว่า 30 วัน ย้ำผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสทุกราย แม้จะเป็นกลุ่ม 608 โดยแพทย์จะพิจารณาสั่งจ่ายยาตามอาการและข้อบ่งชี้

       วันนี้ (4 สิงหาคม 2565) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดหายารักษาโรคโควิด 19 จำนวน 4 รายการ คือ ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ และแพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือคัดเลือกยาคุณภาพจากต่างประเทศและนำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม ยืนยันว่ามีการจัดหาและกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และเรมเดซิเวียร์ ไปยังทุกจังหวัดอย่างเพียงพอ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนยาให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ เป็นยาฟาวิพิราเวียร์ 265.5 ล้านเม็ด ยาโมลนูพิราเวียร์ 12 ล้านเม็ด และยาเรมเดซิเวียร์ 375,210 ขวด

         นายแพทย์ธงชัยกล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 มียาคงคลังในพื้นที่ คือ ยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ รวม 11.2 ล้านเม็ด และยังมีสำรองที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันอัตราการใช้ยาเพียงพอต่อการใช้มากกว่า 14 วัน และมีการติดตามการใช้ยาด้วยระบบ VMI เมื่อมีการใช้ยาจะส่งไปทดแทนต่อเนื่อง เพื่อให้ในพื้นที่มียาคงคลังสำหรับการใช้ในระยะเวลามากกว่า 14 วัน นอกจากนี้ ส่วนกลางยังมีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์กว่า 2 ล้านเม็ด และอยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่มเติม คือ ฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด โมลนูพิราเวียร์ 20 ล้านเม็ด และเรมเดซิเวียร์ 8 หมื่นขวด

         นพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า ยาแต่ละรายการมีข้อบ่งชี้ในการใช้แตกต่างกัน ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกราย แม้จะเป็นกลุ่ม 608 ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ ข้อบ่งชี้และแนวทางการดูแลรักษาตามมาตรฐานของกรมการแพทย์ โดยยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้ในผู้ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อายุมากกว่า 60 ปี หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับ 2 ขึ้นไป โรคไตเรื้อรังระยะ 3 ขึ้นไป โรคหัวใจและหลอดเลือดระดับ 2 รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิด ภาวะอ้วนน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI เกิน 30 กก./ตร.ม. มีภาวะตับแข็งระดับ 8 ขึ้นไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมินาน 15 วันขึ้นไป ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.ม. หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ คือไม่ได้รับเข็มกระตุ้น

          “แม้จะมีโรคเรื้อรัง แต่การจ่ายยาอยู่ที่ดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาจากความเสี่ยงในกลุ่มที่มีอาการมากหรือควบคุมอาการไม่ได้ รวมทั้งยาต้านไวรัสรักษาโควิด 19 เป็นยาที่ขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน ขณะนี้ อนุญาตให้ใช้ในโรงพยาบาลและคลินิกเวชกรรม ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ประชาชนไม่ควรหาซื้อยามากินเอง จะเป็นอันตรายได้” นายแพทย์ธงชัยกล่าว

 ************************************ 4 สิงหาคม 2565


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 4 สิงหาคม 2565 เวลา 17:30 น.