"อนุทิน" ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอ่างทอง-อยุธยา เตรียมผลักดันสิทธิตรวจสุขภาพ อสม.ตามช่วงอายุ


      รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมหารือคมนาคมปรับปรุงถนนช่วยระบายน้ำ พร้อมขอบคุณ อสม.ช่วยดูแลผู้ประสบภัย เตรียมผลักดันสิทธิตรวจสุขภาพตามช่วงอายุให้ได้ในปีหน้า ชี้เป็นหมอคนแรกต้องมีสุขภาพแข็งแรงก่อนดูแลประชาชน

       วันนี้ (9 ตุลาคม 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพ-ชุดยาตำราหลวงให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม 2 จังหวัด ได้แก่ จ.อ่างทอง (เทศบาลซอย 8 ต.จรเข้ร้อง อ.ไชโย และวัดพิจารณ์โสภณ อ.โผงเผง) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (วัดกษัตราธิราช อ.เมือง, มัสยิดฟารุกอุมาร็อบนุลคอบต๊อต อัลกอดีรียะ และวัดไชยวัฒนาราม)

      นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงสถานการณ์อุทกภัยอย่างมาก นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รัฐมนตรีกระจายลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งแม้จะเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี แต่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งการระบายน้ำและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยวันนี้ได้เดินทางมา จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าหลายพื้นที่ระดับน้ำเริ่มลดลง แต่บางพื้นที่ยังท่วมสูงอยู่ สัปดาห์หน้าจะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมถึงแนวทางระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมถาวร โดยเฉพาะการปรับปรุงถนนสายเอเชียให้มีระบบระบายน้ำและรองรับน้ำได้ ช่วยลดความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชน ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ออกหน่วยบริการดูแลสุขภาพประชาชนให้ได้รับการตรวจรักษา ไม่เกิดการขาดยา นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นหมอคนแรกในการลงพื้นที่ดูแลประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติต่างๆ ถึงบ้าน ทั้งช่วงโควิด 19 และน้ำท่วม

        "ผมได้รับข้อเสนอจาก อสม.ให้รัฐบาลช่วยดูแลสุขภาพของ อสม.ด้วย โดยขอให้จัดตรวจสุขภาพตามช่วงอายุ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้นจะพยายามผลักดันให้สำเร็จในปี 2565 และได้กำชับให้ อสม.ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม รีบไปรับวัคซีนเข็ม 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้มากเพียงพอ เนื่องจากเป็นหมอคนแรก เป็นบุคลากรด่านหน้าที่ต้องมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจก่อนเข้าไปดูแลสุขภาพประชาชนอีกเป็นล้านคน" นายอนุทินกล่าว

        สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม จ.อ่างทอง มี 4 อำเภอ 5,054 ครัวเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้รับผลกระทบ 2 แห่ง แต่ยังเปิดบริการได้  ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา มี 10 อำเภอ 35,180 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลได้รับผลกระทบ 12 แห่ง เปิดบริการได้บางส่วน 11 แห่ง ปิดบริการ 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านป้อม

           ภาพรวมทั่วประเทศมีสถานบริการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 124 แห่ง เปิดบริการได้ตามปกติ 99 แห่ง เปิดบางส่วน 14 แห่ง และปิดให้บริการ 11 แห่ง จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 221 ทีม ดูแลประชาชนรวม 307,455 ราย ประกอบด้วย เยี่ยมบ้าน 74,860 ราย แจกยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 54,971 ราย ให้สุขศึกษา 72,023 ราย ให้บริการตรวจรักษา 57,375 ราย และประเมินสุขภาพจิต 48,226 ราย พบเครียดมาก 21 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 9 ราย และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 2 ราย ได้ให้ทีมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

*********************************** 9 ตุลาคม 2564


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 9 ตุลาคม 2564 เวลา 12:42 น.