สธ.มอบกรมการแพทย์จับคู่แล็บเอกชนใน กทม. ประสานจัดหาเตียงผู้ติดเชื้อโควิด


          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบกรมการแพทย์จับคู่คลินิกแล็บเอกชนใน กทม. หากตรวจพบผลบวก ส่งข้อมูลให้ สปคม. ภายใน 3 ชั่วโมง เชื่อมโยงสายด่วน 1668 ช่วยผู้ติดเชื้อหาเตียงที่เหมาะสมกับอาการอย่างรวดเร็ว ย้ำประชาชนร่วมกันป้องกันการติดเชื้อภายในครอบครัว

          วันนี้ (3 พฤษภาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวความร่วมมือการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่ตรวจหาเชื้อจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ)เอกชน โดย ดร.สาธิต กล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดผ่านคลินิกแล็บเอกชนจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดคือเมื่อพบผลเป็นบวกไม่สามารถหาโรงพยาบาลเพื่อส่งผู้ติดเชื้อไปรักษาได้ แม้จะมีนโยบายให้จับคู่กับโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน แต่จากสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้เตียงในโรงพยาบาลเครือข่ายหนาแน่นเช่นกัน จึงได้มอบให้กรมการแพทย์หารือและจับคู่กับคลินิกแล็บเอกชนในกทม.ทั้งหมด เมื่อผลเป็นบวกให้รายงานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) จากนั้นสายด่วน 1668 จะประสานหาเตียงอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ ยังปรับโฉมสายด่วน1668 ให้เอกชนเป็นคอลเซ็นเตอร์หน้าบ้านรับทุกสาย หากเป็นการขอเตียงจะส่งข้อมูลไปหลังบ้านที่เป็นแพทย์ พยาบาล เพื่อจัดการเตียงให้เร็วที่สุด ถือเป็น One Stop Service

         “การรักษาเป็นเรื่องปลายทาง สิ่งที่เป็นต้นทาง คือ การร่วมกันป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อภายในครอบครัวซึ่งกำลังพบมาก อย่างกรณี อสม.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเสียชีวิตจากโควิด  ก็พบประวัติลูกที่อยู่ กทม.มาเยี่ยม ดังนั้น การไปมาหาสู่ รับประทานอาหารในครอบครัว จึงต้องระวังเป็นพิเศษ ต้องป้องกันระวังตัวเองให้มากที่สุด” ดร.สาธิตกล่าว

          ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขอให้คลินิกแล็บเอกชนเมื่อตรวจพบผลบวกให้รายงานสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลจะเชื่อมโยงมายังสายด่วน 1668 ทำให้สามารถติดต่อผู้ติดเชื้อเพื่อคัดแยกอาการและสอบถามว่ามีเตียงแล้วหรือไม่ หากมีเตียงรองรับแล้วให้ไปตามระบบ หากยังไม่มีเตียงจะประสานให้ตามความเหมาะสม เช่น ระดับอาการ โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลตรง
ตามสังกัด เป็นต้น พร้อมส่งรายชื่อผู้ป่วยให้โรงพยาบาลปลายทางติดต่อกลับ โดยมีรถสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติไปรับถึงบ้าน ส่วนผู้ติดเชื้ออื่น ๆ ที่ยังไม่มีเตียงขอให้โทรเข้ามาสายด่วน 1668 จะช่วยหาเตียงด้วยเช่นกัน

          “สิ่งสำคัญคือไม่ว่าได้เตียงที่ไหนขออย่าปฏิเสธการรักษา ให้รีบมาถึงมือแพทย์โดยเร็วจะปลอดภัยมากที่สุด ส่วนผู้ที่ปฏิเสธการรักษา หากเป็นกลุ่มที่อาการดีแต่ไม่ถึง 7 วัน จำเป็นต้องกักกันโรคจะประสาน 191 เชิญผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยและป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวหรือชุมชน แต่ถ้าอาการดีนานกว่า 7 วันหรืออยู่ในเงื่อนไขที่ดูแลตนเองที่บ้านได้ จะให้ลงทะเบียนรับการดูแลจากทีมแพทย์พยาบาล
เพื่อติดตามอาการจนพ้นระยะ 14 วัน”นพ.ณัฐพงศ์กล่าว

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด 19 แบ่งอาการเป็น 4 ระดับ คือ ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย อาการปานกลาง และอาการรุนแรง ซึ่งกลุ่มที่ใส่ท่อช่วยหายใจต้องดูแลในไอซียู ส่วนใหญ่รักษาหายได้ ไม่ได้กลายเป็นผู้เสียชีวิตทุกคน ส่วนที่พบเด็กติดเชื้อมากขึ้น เป็นไปตามสัดส่วนที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก การรักษาในเด็กต้องใช้แพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือเฉพาะ ซึ่ง กทม.มีสถานพยาบาลรองรับผู้ป่วยเด็กอย่างเพียงพอ

********************************** 3 พฤษภาคม 2564

****************************************************


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 3 พฤษภาคม 2564 เวลา 18:46 น.