สธ.พบโควิดสายพันธุ์อังกฤษผู้ป่วยโควิดผับทองหล่อ 24 ราย ห่วงแพร่เร็วขึ้น ย้ำทุกคนเข้มมาตรการป้องกันโรค


      กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ติดเชื้อโควิดผับทองหล่อ 24 ราย ติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ แพร่เร็วขึ้น 1.7 เท่า ย้ำสงกรานต์ขอความร่วมมือเดินทางเท่าที่จำเป็น และเข้มมาตรการป้องกันโรค แจงปรับระดับสีพื้นที่ จะมีการพิจารณาใหม่ อาจปรับเข้มขึ้นให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีการแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น และเสนอ ศบค.ชุดเล็กพิจารณา

         วันนี้ (7 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 334 ราย   มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 174 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 153 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย หายป่วยเพิ่ม 121 ราย ไม่มีเสียชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 6 เมษายน 2564 ฉีดแล้ว 323,989 โดส เป็นเข็มแรก 274,354 ราย และเข็มที่สอง 49,635 ราย

         ขณะนี้มีการระบาดในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ทั้งพนักงาน นักเที่ยว นักดนตรี ได้กระจายไปหลายจังหวัด ซึ่งพบผู้ป่วยมีเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น 1.7 เท่า ยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น หากไม่มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่ดี อาจจะเพิ่มผู้ติดเชื้อมากขึ้น 1.3 - 100 เท่า ดังนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงสำคัญมากที่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคและต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มข้น ขอให้เดินทางเท่าที่จำเป็น ระหว่างการเดินทางขอให้ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เลือกใช้พาหนะส่วนบุคคล สแกนไทยชนะ ปฏิบัติตามคำแนะนำมาตรการของจังหวัดปลายทาง ซึ่งจะมีระบบเฝ้าระวังการติดตามสอบถามผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง

         นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า จุดเสี่ยงแพร่ระบาดโรคที่เห็นชัดคือ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ มีการเต้นรำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความแออัด พื้นที่ที่มีการระบาดจำเป็นจะต้องปิด ส่วนร้านอาหารมีความเสี่ยงแตกต่างกัน หากอยู่กลางแจ้ง เว้นระยะห่าง ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีความเสี่ยงน้อย แต่หากเป็นสถานที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท คนแออัด ดื่มแอลกอฮอล์ คุยเสียงดัง จะมีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ ข้อเสนอปรับพื้นที่สีแดง 5 จังหวัด ศบค.ชุดเล็กไม่ได้ไม่เห็นชอบ แต่ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงมหาดไทย ร่วมกันพิจารณาประเมินกำหนดพื้นที่ใหม่ตามสถานการณ์เพิ่มเติม ซึ่งจากการประชุมเบื้องต้นเห็นตรงกันว่าจะปรับพื้นที่สีใหม่ ซึ่งอาจต้องปรับเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์กระจายเชื้อมีมากขึ้น โดยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในสถานบันเทิง ผับบาร์ คาราโอเกะ และร้านอาหาร และจะเสนอ ศบค.ชุดเล็กใน 1-2 วันนี้

         ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การระบาดช่วงมีนาคม-เมษายน 2563 พบผู้ติดเชื้อประมาณ 3 พันคน เฉลี่ยวันละประมาณหลักสิบราย ส่วนการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ธันวาคม 2563 จนถึงตอนนี้ยังไม่ยุติ และเกิดเหตุการณ์สถานบันเทิงเรียกว่าระลอกซ้อนระลอก มีผู้ติดเชื้อประมาณหลักร้อยราย ตอนแรกสงสัยว่าเกิด Super Spread จากการเป็นสถานที่ปิด มีดนตรีเสียงดัง ร้องเพลงเสียงดัง พูดเสียงดัง โอกาสเชื้อกระจายลอยในอากาศง่าย แต่จากตรวจหาเชื้อพบว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการก็มีปริมาณไวรัสในคอสูงมาก เมื่อตรวจสายพันธุ์ผู้ป่วย 24 คน จากผับทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์ธรรมดา 1.7 เท่า แต่ความรุนแรงไม่เพิ่มขึ้น และไม่กระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน อย่างไรก็ตาม ที่เป็นห่วงคือ ปีนี้จำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า แต่มาตรการของปีที่แล้ว มีล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ห้ามขายสุรา เลื่อนสงกรานต์ เข้มกว่ากัน 10 เท่า ดังนั้น เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายเพิ่มอีก 100 เท่า เมื่อเป็นสายพันธุ์อังกฤษก็ยิ่งทวีคูณเป็น 170 เท่า ช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทาง คนหนุ่มสาวติดเชื้อส่วนใหญ่อาการน้อย แต่ปริมาณไวรัสมาก หากเดินทางไปรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ อาจนำเชื้อไปสู่ผู้สูงอายุ ซึ่งโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้สูง

         “สงกรานต์ปีนี้ไม่สามารถล็อกอะไรได้ ถ้าเป็นไปได้ ควรลดการเคลื่อนย้ายประชากรให้มากที่สุด แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางก็ต้องมีมาตรการทุกอย่างให้เคร่งครัด ตั้งแต่เริ่มออกจากบ้าน ขึ้นรถ จนถึงจุดหมายปลายทาง ให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดมีระเบียบวินัย เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือ ถ้าทุกคนช่วยกัน เชื่อว่าจะควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.นพ.ยงกล่าว

         ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า วัคซีนโควิด 19 ช่วยลดอาการของโรค ป้องกันการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แม้จะฉีดวัคซีนเข็มแรกหรือครบสองเข็มแล้ว ยังติดเชื้อได้ แต่อาการจะรุนแรงน้อยลง ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เมื่อวัคซีนมีมากเพียงพอขอให้ทุกคนที่ถึงคิวฉีดวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนด เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น

 *********************************  7 เมษายน 2564

 

********************************* 


จากหน่วยงาน : กลุ่มภารกิจด้านข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักสารนิเทศ เปิดดู 566 view
วันที่ประกาศข่าว : 7 เมษายน 2564 เวลา 20:24 น.